Your browser doesn’t support HTML5
บริษัท หัวเหว่ย ซึ่งเป็นธุรกิจโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่จากจีน อาจเคยตั้งความหวังไว้ว่า การเปลี่ยนถ่ายรัฐบาลสหรัฐฯ มาสู่ยุคของประธานาธิบดี โจ ไบเดน น่าจะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันที่รัฐบาลกรุงวอชิงตันชุดก่อนสร้างไว้ ผ่านนโยบายต่างๆ ซึ่งรวมทั้งคำสั่งห้ามทำธุรกิจ แต่ที่ผ่านมา ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จากสหรัฐฯ ว่าจะเปลี่ยนแปลงท่าทีที่มีต่อจีนเท่าใดนัก
นับตั้งแต่รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ดำเนินมาตรการสกัดกั้นห่วงโซ่อุปทานของ หัวเหว่ย ที่จำเป็นสำหรับโครงการพัฒนาอุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยี 5จี มา หน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งโครงสร้างโทรคมนาคมและมือถือของบริษัทชั้นนำของจีนแห่งนี้ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นผู้นำตลาดโลกในด้านยอดขายสมาร์ทโฟน ได้รับความเสียหายอย่างมาก
ขณะที่การที่ปธน.ไบเดน เสนอชื่อ แคเธอรีน ไท ชาวอเมริกันเชื้อสายจีนขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เป็นเหมือนสัญญาณที่บ่งชี้ว่า นโยบายสหรัฐฯ ต่อจีน ยังไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามาก ทั้งหัวเหว่ยและบริษัทจีนอื่นๆ ยังหวังว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะลดความตึงเครียดลงจากระดับสงครามการค้าในสมัยของอดีตปธน.ทรัมป์ ในไม่ช้านี้
แต่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ความหวังของหัวเหว่ยกับยุคของปธน.ไบเดน กลับเริ่มริบหรี่ เมื่อรัฐบาลกรุงวอชิงตันประกาศว่า ไม่เพียงแต่จะดำเนินนโยบายสั่งห้ามการส่งออกบางรายการตามที่รัฐบาลชุดก่อนประกาศไว้ แต่จะยกระดับความเข้มข้นของมาตรการทั้งหมดด้วย
นอกจากนั้น ก่อนการประชุมระดับสูงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ และตัวแทนรัฐบาลกรุงปักกิ่งเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศว่า ทางกระทรวงฯ ได้ออกหมายเรียกผู้บริหารบริษัทจีนหลายแห่งเพื่อมาให้ข้อมูล สำหรับการสืบสวนกรณีภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศด้วย โดยกรณีนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากคำสั่งฝ่ายบริหารของอดีตปธน.ทรัมป์ ที่ให้อำนาจรัฐบาลสั่งห้ามการซื้อเทคโนโลยีใดๆ ก็ตามที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ
แม้กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้เปิดเผยชื่อบริษัทที่ถูกสอบสวนอยู่ ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเชื่อว่า หัวเหว่ย คือหนึ่งในผู้ที่ถูกเรียกสอบอย่างแน่นอน
และระหว่างการประชุมระหว่าง แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และ หยาง เจียชื่อ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ฝ่ายผู้แทนจีนกล่าวว่า สหรัฐฯ “บิดเบือนประเด็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ ด้วยการใช้ข้ออ้างนี้ในการขัดขวางการแลกเปลี่ยนทางการค้าในแบบปกติ และยุยงให้ประเทศอื่นๆ โจมตีจีน”
นับตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2019 มา สหรัฐฯ ออกคำสั่งห้ามการส่งออกหลายรายการที่ทำให้หัวเหว่ย ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหลายประเภทที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ โดยหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ กล่าวมาตลอดว่า หัวเหว่ย นั้นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน ขณะที่ กฎหมายของจีนบังคับให้บริษัทต่างๆ ที่ทำธุรกิจกับจีนต้องให้ความร่วมมือในกับหน่วยข่าวกรองของตนในการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ
ที่ผ่านมา ผู้บริหารของหัวเหว่ยได้แต่แสดงความร้อนใจที่ถูกมองว่าตนเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของรัฐบาลจีน และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แอนดี เพอร์ดี ผู้บริหารระดับสูงด้านการรักษาความปลอดภัยของ หัวเหว่ย ในสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับ บลูมเบิร์ก นิวส์ ว่า หากรัฐบาลปธน.ไบเดน มีความกังวลเกี่ยวกับหัวเหว่ยจริง “เราหวังว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะเข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนกับเรา และไม่ชี้นิ้วไปยังรัฐบาลจีน เพราะหัวเหว่ย พูดแทน ‘หัวเหว่ย’ เท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญไม่น้อยยังไม่เชื่อว่า บริษัทแห่งนี้มีอิสระในการดำเนินธุรกิจจากอิทธิพลของรัฐบาลจีนจริงดังอ้าง เช่น จิม ลูอิส ผู้อำนวยการโครงการ Strategic Technologies Program ของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติ ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า แม้รัฐบาลจีนจะไม่ได้ออกมาพูดแทนหัวเหว่ย แต่ทุกครั้งที่พูดกับบริษัทแห่งนี้ “หัวเหว่ย ตอบได้เพียงแต่ ‘ได้ครับ/ค่ะ’ เท่านั้นเอง”
ในส่วนของผลกระทบทางธุรกิจที่ผ่านมานั้น นักวิเคราะห์คาดว่า สัดส่วนการตลาดโลกของสมาร์ทโฟนที่หัวเหว่ยเคยถือไว้ที่ราว 20.2 เปอร์เซ็นต์เมื่อไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว น่าจะหดหายเหลือเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ ภายในสิ้นปีนี้แล้ว