ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนนี้เป็นต้นไป รัฐบาลสหรัฐฯ จะเริ่มบังคับใช้คำสั่งห้ามขาย เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) หรือ “ชิป” ให้บริษัท หัวเหว่ย ของจีน ที่ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนดังกล่าวในการผลิตสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเครือข่าย 5G ซึ่งเป็นธุรกิจทำเงินของบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีนแห่งนี้
รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศมาตรการลงโทษหัวเหว่ยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผลห้ามไม่ให้ผู้ผลิต “ชิป” ไม่ว่าจากประเทศใดที่พึ่งพาเทคโนโลยีของสหรัฐฯ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตนให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่นี้ หากไม่ได้รับเอกสารอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาผู้ผลิต “ชิป” ในเกาหลีใต้และไต้หวันต่างออกมายืนยันว่าจะปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ และหยุดนำส่งผลิตภัณฑ์ของตนให้กับหัวเหว่ยตั้งแต่วันอังคารนี้แล้ว
ขณะที่จีนพยายามก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำธุรกิจไฮเทคของโลก โรงงานในประเทศนี้ยังไม่มีความสามารถในการผลิตไมโครชิปด้วยตนเองมากพอที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และรายงานข่าวระบุว่า กระบวนการผลิตที่ก้าวหน้าที่สุดของจีนยังผลิตได้เพียงไมโครชิปแบบ 14 นาโนมิเตอร์ ซึ่งตามหลังเทคโนโลยีของซัมซุงและบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company อยู่หลายรุ่น
และแม้ผู้ผลิตชั้นนำส่วนใหญ่จะตั้งอยู่นอกสหรัฐฯ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ อุตสาหกรรมนี้ยังต้องพึ่งซัพพลายเออร์อเมริกันเพื่อช่วยผลิตสินค้าของตนอยู่ดี
สำหรับจีน รัฐบาลเพิ่งประกาศนโยบายชุดใหม่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อเป็นการตอบโตสหรัฐฯ และเน้นการขยายอุตสาหกรรมผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศ ด้วยมาตรการอุดหนุนภายใต้แผนระยะยาว 5 ปี
รายงานข่าวระบุว่า หัวเหว่ย ได้สั่งวัตถุดิบซิลิโคนที่มากพอสำหรับดำเนินธุรกิจต่อได้อีก 2 ปีมาไว้ในคลังเพื่อให้ตนอยู่รอดได้อีกระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่บริษัท MediaTek ของไต้หวันเปิดเผยว่า ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อจะนำส่งสินค้าที่หัวเหว่ยสั่งไว้ แม้หลังกฎใหม่จะมีผลบังคับใช้
นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า แม้จีนจะมีปัญหาในระยะสั้นที่จะจัดการกับเรื่องนี้ แต่ในอนาคต สหรัฐฯ ไม่น่าจะหยุดจีนให้มุ่งพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์แบบพื้นฐานด้วยตัวเองได้ และเมื่อมองต่อไปข้างหน้า จีนน่าจะมีความสามารถในการหาเทคโนโลยีมาทดแทนที่สหรัฐฯ และกลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง