สำรวจเสียงของชาวไทยและสหรัฐฯ ในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ที่เพิ่งเผชิญกับอากาศร้อนจัด ว่าได้รับผลกระทบต่อธุรกิจและวิถีชีวิตอย่างไร ในสภาวะที่ความร้อนมีเพียงแนวโน้มที่จะทวีความร้ายกาจมากขึ้นทุกปี
พอร์ตแลนด์ ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐโอเรกอน เพิ่งเป็นสถานที่จัดงาน Thai Festival Portland เมื่อวันที่ 13-14 กรกฎาคมที่ผ่านมา
หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น หลายพื้นที่ในสหรัฐฯ รวมถึงพอร์ตแลนด์ เผชิญกับคลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุม จนอุณหภูมิสูงเกิน 100 องศาฟาเรนไฮต์ (ราว 38 องศาเซลเซียส) ซึ่งแม้ไม่ได้ร้อนจนทำลายสถิติ แต่ก็ถือว่ากินเวลายาวนานแบบที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น อ้างอิงจากการรายงานของสื่อท้องถิ่น Oregon Live
ผู้ประกอบการอาหารไทยและผู้ใช้ชีวิตในเมืองแห่งนี้ให้ข้อมูลกับวีโอเอไทยว่า อากาศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องปกติ และมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และการปรับตัวทางธุรกิจ
ยุทธ สวัสดิ์ เจ้าของร้านอาหารพญาไท กล่าวว่า อากาศที่ร้อนทำให้ธุรกิจอาหารได้รับผลกระทบและต้องปรับตัว
“ใครที่เปิดอยู่ก็ยังได้ในส่วนของเดลิเวอรี่ แต่ในส่วนของนั่งในร้าน หรือบางร้านที่มี patio (พื้นที่ลานด้านนอก) บางทีก็ต้องปิด เพราะว่าร้อนจัด คนก็ไม่อยากนั่ง ถ้าแอร์ในร้านเย็น เราก็นั่งในร้านมากกว่า”
“กลางวันเงียบพอสมควรเพราะว่าร้อนจัด คนจะเริ่มเข้าก็คือแดดร่มลมตก ช่วงห้าโมงถึงสี่ทุ่ม เราก็ต้องขยายเวลาให้เปิดดึกขึ้น”
พิมพ์พิสา บุญถนอม แม่ค้าสตรีทฟู้ดจากรัฐวอชิงตัน กล่าวว่าสภาพอากาศมีผลต่อประเภทสินค้าที่ลูกค้าเลือกบริโภค และสำหรับเธอ ยอดขายในงานนี้ถือว่าดี เพราะลูกค้ามาซื้อเครื่องดื่มเยอะ
“ถ้าอากาศหนาว กลับกัน ของปิ้งก็จะขายดี แต่ส่วนมากลูกค้าก็ไม่ได้สน ต่อให้หนาวยังไง น้ำก็ยังขายดี” พิมพ์พิสากล่าว
ด้านโศรตรียา จันทร์สละ เจ้าของร้านอาหารไทย กะทิ พอร์ตแลนด์ กล่าวว่าโดยทั่วไปแล้วฤดูร้อนจะเป็นผลดีกับกิจการสตรีทฟู้ดในเมืองแห่งนี้ที่มักจะมีฝนตกบ่อย แต่อากาศที่ร้อนผิดปกติก็ทำให้ผู้ประกอบการต้องควบคุมไม่ให้อาหารเน่าเสียจนเสี่ยงต่อการเกิดอาหารเป็นพิษ แต่บางครั้งระบบควบคุมความเย็นก็เสีย เนื่องจากอากาศที่ร้อนจัด
โศรตรียากล่าวว่า “ทำตามกฎของกระทรวงสาธารณสุข เราก็จะต้องทำตามว่า ต้องควบคุมอุณหูมิเท่าไหร่ สำหรับอาหารที่เย็น และที่ร้อน จะต้องควบคุมในอุณหภูมิเท่าไหร่ ทุกร้านต้องมีเทอร์โมมิเตอร์เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิ และมีมาตรการของแต่ละร้าน”
ผู้ใช้ชีวิตในเมืองพอร์ตแลนด์เล่าว่า วิถีชีวิตของชาวเมืองก็ปรับตัวไปตามสภาพอากาศ
คริสโตเฟอร์ ฟรีเบิร์น ชาวเมืองพอร์ตแลนด์ กล่าวว่าปกติชาวเมืองแห่งนี้มักไม่ออกจากบ้าน หากอุณหภูมิสูงเกิน 100 องศาฟาเรนไฮต์ แต่ก็ยังมองว่า อากาศร้อนแบบที่ไทยนั้นแย่กว่าที่นี่
“ที่ไทยแย่กว่ามาก อากาศที่ไทยสามารถเลวร้ายได้กว่านี้ และก็ชื้นกว่านี้มาก ๆ ที่พอร์ตแลนด์พวกเรามักเจออากาศที่สูงกว่า 100 ฟาเรนไฮต์ ซึ่งมันยังพอจัดการกันได้เพราะอากาศที่นี่มักจะแห้งกว่า ซึ่งทำให้ไม่รู้สึกร้อนเท่ากับที่ ๆ มีความชื้นมากกว่า” ฟรีเบิร์นกล่าว
สำหรับปฐภรณ์ ภู่ระหงศ์ ชาวไทยในพอร์ตแลนด์ สภาพอากาศร้อนไม่ได้ทำให้มีผลกับการจับจ่ายใช้สอยนัก แต่ก็มีผลกับการใช้ชีวิต
“ไม่ค่อยกระทบกับการจับจ่ายใช้สอย ไปร้านขายของ ก็ยังดำเนินชีวิตปกติ แต่ถ้าเป็นกิจกรรมข้างนอกช่วงนี้ก็คงเลี่ยงค่ะ” ปฐภรณ์กล่าว
นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนในสหรัฐฯ ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนความถี่ ความรุนแรง และกินระยะเวลายาวนานขึ้นเรื่อย ๆ ตามข้อมูลของหน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐฯ (EPA)
อากาศที่ร้อนขึ้น ไม่เพียงกลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพที่สาหัสยิ่งขึ้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายประเภท โดยเฉพาะในภาคส่วนที่มีการทำงานกลางแจ้ง เช่น เกษตรกรรม งานก่อสร้าง ไปจนถึงงานไปรษณีย์และขนส่งสินค้า ตามข้อมูลที่รวบรวมจากโดยคณะกรรมาธิการร่วมด้านเศรษฐกิจของวุฒิสภาสหรัฐฯ เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม 2023
รายงานปี 2020 ขององค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม Adrienne Arsht-Rockefeller Foundation Resilience Center ระบุว่า อากาศที่ร้อนจัด สร้างความสูญเสียให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างน้อย 1 แสนล้านดอลลาร์เมื่อประเมินจากในแง่ผลิตภาพแรงงาน และคาดว่าจะขยายเป็น 5 แสนล้านดอลลลาร์ภายในปี 2050 หากไม่มีมาตรการรับมือกับความร้อนอย่างเหมาะสม