ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ภาวะอากาศร้อนจัด เป็นอันตรายต่อสมอง-หัวใจ อย่างไร


นักท่องเที่ยวที่มาเยือนกรุงวอชิงตันรายนี้ เดินกางร่ม ท่ามกลางสภาพอากาศที่รุนแรงจากคลื่นความร้อน เมื่อ 19 มิ.ย. 2567
นักท่องเที่ยวที่มาเยือนกรุงวอชิงตันรายนี้ เดินกางร่ม ท่ามกลางสภาพอากาศที่รุนแรงจากคลื่นความร้อน เมื่อ 19 มิ.ย. 2567

ในช่วงที่อุณหภูมิและความชื้นพุ่งสูงในหลายพื้นที่ทั่วโลก สิ่งที่หลายคนควรสังเกตและระวังไว้ให้ดีขึ้น ผลกระทบของสภาพอากาศที่ว่าต่อร่างการของเราที่อาจหมายถึงความเป็น/ความตาย เพียงเพราะอุณหภูมิที่ปรับขึ้นเพียงไม่กี่องศาเท่านั้น ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี

นักวิจัยที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบที่ว่านี้กล่าวว่า ในความจริง จุดที่เป็นอันตรายที่อาจทำให้ป่วยหรือเสียชีวิตจากความร้อนไม่หยุดหย่อนนั้นไม่ได้สูงเหมือนกับที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญเคยคาดไว้เลย

เพราะฉะนั้น ในสภาพอากาศร้อนระอุในช่วงนี้ โดยเฉพาะที่สหรัฐฯ เม็กซิโก อินเดียและตะวันออกกลาง ซึ่งมีพยากรณ์ว่าจะเกิดคลื่นความร้อนที่ร้ายแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วยฝีมือมนุษย์ แพทย์และผู้เชี่ยวชาญหลายคนจึงนำเสนอคำอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่ร่างกายคนเราเผชิญในภาวะร้อนจัด ดังนี้

อุณหภูมิในร่างกาย

โดยปกติ อุณหภูมิในร่างกายคนอยู่ที่ราว 37 องศาเซลเซียส (98.6 องศาฟาเรนไฮต์)

แต่ โอลลี เจย์ ศาสตราจารย์ด้านความร้อนและสุขภาพจาก มหาวิทยาลัยแห่งซิดนีย์ ในออสเตรเลีย เตือนระดับดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าระดับที่เป็นอันตรายจากภาวะโรคลมแดดเพียง 4 องศาเซลเซียส หรือ 7 องศาฟาเรนไฮต์เท่านั้น

นายแพทย์นีล คานธี ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ฉุกเฉินแห่งโรงพยาบาลกลางเมธอดิสต์ฮิวส์ตัน (Houston Methodist Hospital) อธิบายว่า ในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อนนั้น ใครก็ตามที่มีไข้สูงถึงระดับ 102 องศาฟาเรนไฮต์ หรือสูงกว่านั้น โดยไม่มีตัวบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อใด ๆ จะถูกวินิจฉัยตรวจว่า มีภาวะอ่อนเพลียจากความร้อน (heat exhaustion) เพราะการสูญเสียน้ำและโซเดียม หรืออาจเป็นโรคลมแดดขั้นรุนแรงหรือไม่

ความร้อนทำให้เสียชีวิตอย่างไร

ศาสตราจารย์เจย์ กล่าวว่า ความร้อนส่งผลให้คนเสียชีวิตได้ 3 วิธี โดยวิธีแรกคือ อาการโรคลมแดดที่เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิในร่างการเพิ่มขึ้นรุนแรงจนอวัยวะภายในล้มเหลว

แฟ้มภาพ - สตรีคนหนึ่งราดน้ำลงบนศีรษะในวันอากาศร้อน ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อ 21 พ.ค. 2567
แฟ้มภาพ - สตรีคนหนึ่งราดน้ำลงบนศีรษะในวันอากาศร้อน ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อ 21 พ.ค. 2567

อีกวิธีหนึ่งคือ แรงกดดันที่หัวใจ ซึ่งเป็นความเสี่ยงสูงมากสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยภาวะเสี่ยงนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการสูบฉีดเลือดไปที่ผิวหนังเพื่อลดความร้อน แต่สถานการณ์เช่นนั้นทำให้ความดันโลหิตตกลง ซึ่งจะทำให้หัวใจเร่งสูบฉีดเลือดออกมากมากขึ้นเพื่อไม่ให้หมดสติ

ศาสตราจารย์เจย์ อธิบายว่า สภาพการณ์ที่ว่าหมายถึงการที่หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่หัวใจอยู่แล้ว

ส่วนวิธีที่ 3 คือ ภาวะขาดน้ำรุนแรง โดยเกิดขึ้นเมื่อเสียเหงื่อเป็นจำนวนมากจนทำให้ไตทำงานหนักรุนแรง

นายแพทย์นีล คานธี กล่าวว่า คนจำนวนมากไม่ได้คิดว่า สถานการณ์ที่ว่านี้เป็นอันตรายเลย ขณะที่ แพทย์หญิงเรเน ซัลลาส จากโรงพยาบาลกลางแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts General Hospital) บอกว่า ในความเป็นจริง การขาดน้ำอาจนำไปสู่ภาวะช็อก ทำให้อวัยวะหยุดทำงานเพราะร่างกายขาดเลือด ออกซิเจนและสารอาหาร ซึ่งทำให้เกิดอาการชักและเสียชีวิตได้

ความเสียหายที่สมอง

แพทย์หลายรายให้ความเห็นว่า ความร้อนยังทำอันตรายต่อสมองได้ด้วย เพราะทำให้คนเราสับสน คิดอะไรไม่ออก

ศาสตราจารย์คริส เอบิ จากมหาวิทยาลัยแห่งวอชิงตัน (University of Washington) อธิบายว่า อาการแรก ๆ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับภาวะความร้อนสูงก็คือ อาการงง ๆ หลง ๆ แต่หลายคนมักไม่สังเกต ขณะที่ เรื่องนี้ดูเป็นปัญหาใหญ่เฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ

ส่วนศาสตราจารย์ ดับเบิลยู แลร์รี เคนนีย์ จาก มหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania State University) กล่าวว่า คำจำกัดความแบบง่าย ๆ ของโรคลมแดดก็คือ การที่อุณหภูมิภายในร่างการ (core body temperature) อยู่ที่ 104 องศาฟาเรนไฮต์ (40 องศาเซลเซียส) “พร้อม ๆ กับการที่สูญเสียความสามารถในการเรียนรู้หรือการจำ”

ความชื้นก็มีความสำคัญ

ศาสตราจารย์ ดับเบิลยู แลร์รี เคนนีย์ กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์บางรายใช้ระบบการวัดอุณหภูมิภายนอกอาคารที่มีความซับซ้อน ซึ่งมีชื่อเรียกว่า อุณหภูมิเวตบัลบ์โกลบ (Wet Bulb Globe Temperature : WBGT) ที่คิดคำนวณระดับความชื้น การแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์และลมด้วย โดยในอดีต มีการประเมินว่า ค่า WBGT ที่ 95 องศาฟาเรนไฮต์ (35 องศาเซลเซียส) คือ จุดที่ร่างกายคนเราเริ่มจะมีปัญหาแล้ว

แต่ศาสตราจารย์ผู้นี้ทำการทดลองเองแล้วพบว่า ค่า WBGT ที่เป็นอันตรายนั้นอยู่ที่เกือบ ๆ 87 องศาฟาเรนไฮต์ (30.5 องศาเซลเซียส) โดยเริ่มมีรายงานการพบค่านี้ในแถบตะวันออกกลางบ้างแล้ว โดยเป็นกรณีของคนหนุ่มสาว แต่สำหรับผู้สูงอายุนั้น ค่าดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ 82 องศาฟาเรนไฮต์ (28 องศาเซลเซียส) เท่านั้น

ศาสตราจารย์เคนนีย์ จึงสรุปว่า คลื่นความร้อนที่มาพร้อมกับความชื้นทำให้คนเสียชีวิตมากกว่าคลื่นความร้อนแบบแห้ง”

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG