ตำรวจฮ่องกงใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางปราบปรามผู้ประท้วงหน้าอาคารรัฐสภา

Riot police fire tear gas to protesters outside the Legislative Council in Hong Kong, June 12, 2019.

การประท้วงครั้งใหญ่ด้านหน้าอาคารที่ทำการรัฐสภาฮ่องกงลุกลามไปเป็นความรุนแรงในวันพุธที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น เมื่อตำรวจปราบจลาจลได้ใช้แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย และกระสุนยาง เข้าสลายการชุมนุมของผู้ต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของฮ่องกง

โรงพยาบาลหลายแห่งรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 72 คนจากเหตุการณ์นี้

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้รัฐสภาฮ่องกงต้องประกาศเลื่อนการพิจารณากฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

กฎหมายดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลในหมู่ประชาชน นักธุรกิจ และองค์กรทางสังคมต่างๆ ในฮ่องกง ว่าอาจทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมกับผู้ที่ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะการส่งตัวไปดำเนินคดีที่จีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งมีความแตกต่างทางกฎหมายกับฮ่องกง

โดยบริษัทห้างร้านหลายร้อยแห่งปิดทำการเพื่ออนุญาตให้ลูกจ้างไปร่วมการประท้วงครั้งนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง แครี แลม ยืนยันว่าจำเป็นต้องมีการผลักดันกฎหมายนี้ต่อไป

ขณะเดียวกันที่กรุงวอชิงตัน ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าว แสดงความเชื่อมั่นว่าจีนและฮ่องกงจะสามารถหาทางจัดการเรื่องนี้ได้ และว่านี่เป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ตนเคยเห็น

ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง และขอให้รัฐบาลฮ่องกงเคารพในเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น และสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติของประชาชนชาวฮ่องกง

การแก้กฎหมาย Fugitive Offenders Ordinance ซึ่งว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่สร้างความกังวลต่อประชาชนครั้งนี้ ถูกริเริ่มขึ้นเมื่อเดือนเมษายน โดยจะนำขึ้นพิจารณาในสภานิติบัญญัติของฮ่องกงในวันพุธที่ 12 มิถุนายน

ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ฮ่องกงจะสามารถส่งตัวผู้ต้องหาไปดำเนินคดีที่จีนแผ่นดินใหญ่ได้ รวมทั้งที่เขตแดนอื่น เช่น มาเก๊าและไต้หวัน ซึ่งทางรัฐบาลปักกิ่งระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในการปกครองของจีน โดยไม่จำเป็นต้องมีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างถาวรต่อกัน

ผู้ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าวมองว่า จำเลยผู้ถูกส่งตัวออกจากฮ่องกงไปยังจีนจะสูญเสียสิทธิ์ที่พึงมี เมื่ออยู่ภายใต้การดำเนินการทางกฎหมายในระบอบของจีนแผ่นดินใหญ่

นอกจากนี้คนยังไม่พอใจที่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าวน่าจะเป็นตัวอย่างของการแทรกเเซงของจีน ซึ่งฝ่าฝืนคำมั่นที่ว่ารัฐบาลปักกิ่งจะให้อำนาจการปกครองตนเองต่อฮ่องกงเป็นเวลา 50 ปี หลังการส่งผ่านการปกครองจากอังกฤษสู่จีนในปี พ.ศ. 2540