ชาวฮ่องกงหลายแสนคนร่วมกันเดินขบวนประท้วงกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ที่เอื้ออำนวยต่อการส่งตัวบุคคลไปดำเนินคดีที่จีนแผ่นดินใหญ่
การรวมตัวกันทางการเมืองครั้งนี้ถือว่าใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีที่ฮ่องกง โดยประชาชนได้เรียกร้องให้ผู้บริหารเกาะฮ่องกง นางแคร์รี แลม ลาออกจากตำแหน่งด้วย
ผู้ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าวมองว่า จำเลยผู้ถูกส่งตัวออกจากฮ่องกงไปยังจีนจะสูญเสียสิทธิ์ที่พึงมี เมื่ออยู่ภายใต้การดำเนินการทางกฎหมายในระบอบของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งแตกต่างจากในฮ่องกงที่มีอำนาจกึ่งอธิปไตยในการปกครองตนเอง
นอกจากนี้คนยังไม่พอใจที่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าวน่าจะเป็นตัวอย่างของการแทรกเเซงโดยจีนต่อการบริหารฮ่องกง และฝ่าฝืนคำมั่นที่ว่ารัฐบาลกลางของจีนจะให้อำนาจการปกครองตนเองต่อฮ่องกงเป็นเวลา 50 ปี หลังการส่งผ่านการปกครองจากอังกฤษสู่จีนในปี พ.ศ. 2540
ฝูงชนที่ออกมาเเสดงพลังครั้งนี้ทำให้ท้องถนนบนเกาะฮ่องกงสายหลักหน้าที่ทำการของสภานิติบัญญัติ เต็มไปด้วยคลื่นมนุษย์
กลุ่ม Civil Human Rights Front ซึ่งเป็นแกนนำการประท้วง ประเมินว่าพวกเขาสามารถระดมแรงสนับสนุนจากคนกว่าหนึ่งล้านคนในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ แต่ตำรวจระบุว่าจำนวนผู้ประท้วงสูงสุดน่าจะอยู่ที่ 2 แสน 4 หมื่นคน
ความพิเศษของการประท้วงครั้งนี้คือ ถือเป็นการแสดงพลังนอกเหนือจากวาระการชุมนุมปกติ ที่มักเกิดขึ้นวันที่ 1 กรกฎาคม ที่เป็นวันครบรอบการรวมฮ่องกงกับจีนอีกครั้งหลังจากการปกครองของอังกฤษ และวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งก็คือวันชาติของจีนแผ่นดินใหญ่
ผู้ประท้วงรายหนึ่งที่ชื่อ เคย์ แลม กล่าวว่า แม้การออกมาเเสดงพลังครั้งนี้ไม่อาจทำให้เกิดการล้มแผนเปลี่ยนแปลงกฎหมาย แต่เขาต้องการให้ชาวโลกเห็นว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับผู้บริหารเกาะฮ่องกง เขาถือว่านี่คือหน้าที่ที่ต้องออกมาเเสดงความเห็นอย่างเป็นรูปธรรมกับมหาชนผู้ร่วมเดินขบวน
การแก้กฎหมาย Fugitive Offenders Ordinance ซึ่งว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่สร้างความกังวลต่อประชาชนครั้งนี้ ถูกริเริ่มขึ้นเมื่อเดือนเมษายน และจะมีการลงมติในสภาฮ่องกงวันที่ 12 มิถุนายน โดยเสียงส่วนใหญ่ในสภาเป็นผู้สนับสนุนฐานอำนาจเก่า
หากได้รับการอนุมัติเป็นกฎหมาย
รัฐบาลฮ่งกงสามารถพิจารณาส่งตัวผู้ต้องหาคดีอาญาไปยังเขตแดนอื่น โดยไม่จำเป็นต้องมีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างถาวรต่อกัน ซึ่งรวมถึงการส่งตัวผู้ต้องสงสัยไปยังจีนแผ่นดินใหญ่่
ท่ามกลางเสียงต่อต้าน ผู้บริหารฮ่องกง เเคร์รี เเลม กล่าวว่า ความพยายามนี้มีขึ้นเพื่อปิดช่องโหว่ทางกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม สมาคมนักกฎหมายฮ่องกง หรือ Hong Kong Law Society และหอการค้าอเมริกันแสดงความไม่เห็นด้วย เช่นเดียวกันกับคลื่นมหาชนที่เนื่องแน่นท้องถนน จนกลายเป็นฉากประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของเขตปกครองพิเศษของจีนแห่งนี้
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของผู้สื่อข่าว Erin Hale)