ฮ่องกงเสนอรางวัลนำจับ 6 นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย

โทนี ชุง นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกงที่อาศัยอยู่ที่กรุงลอนดอน ร่วมทำการประท้วงมาตราใหม่ของกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่สภาฮ่องกงผ่านออกมาใช้งาน เมื่อ 23 มี.ค. 2567

รัฐบาลฮ่องกงออกประกาศในวันอังคารเสนอรางวัลนำจับมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (128,728 ดอลลาร์สหรัฐฯ) สำหรับ 6 นักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยที่ถูกกล่าวหาว่า ทำผิดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมกับสั่งยกเลิกพาสปอร์ตของนักเคลื่อนไหวอีก 7 คน

คริส ถัง รัฐมนตรีความมั่นคงฮ่องกงกล่าวว่า นักเคลื่อนไหวทั้ง 6 คนที่ขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษและสหรัฐฯ มีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรมว่าด้วยการปลุกปั่นให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน การบ่อนทำลายและการสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติ ผ่านการขึ้นกล่าวปราศรัย โพสต์ข้อความทางสื่อสังคมออนไลน์ และทำการล็อบบี้ให้รัฐบาลต่างชาติดำเนินมาตรการลงโทษต่อเจ้าหน้าที่และผู้พิพากษาฮ่องกง เป็นต้น

หนึ่งใน 6 ที่ทางการฮ่องกงต้องการตัว คือ คาร์เมน เลา อดีตสมาชิกสภาประชาธิปไตยฮ่องกงซึ่งโพสต์ข้อความทางแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) ว่า “(ดิฉัน)จะไม่ยอมถอยเพียงเพราะหมายจับและรางวัลนำจับ และดิฉันหวังที่จะเห็นทุกคนยืนเคียงข้างดิฉันในการต่อสู้เพื่อฮ่องกง”

การประกาศรายชื่อที่ทางการฮ่องกงต้องการตัวเพิ่มนี้เกิดขึ้นขณะที่ เขตบริหารพิเศษของจีนนี้กำลังพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจและชื่อเสียงในสายตาประชาคมโลก หลังเกิดการปรามปรามผู้เห็นต่างมายาวนานหลายปีจนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาจากทั่วโลก

จีนและฮ่องกงต่างอ้างว่า การปรามปรามที่ว่าภายใต้อำนาจของกฎหมายความมั่นคงประเทศช่วยทำให้เกิดเสถียรภาพบนเกาะแห่งนี้ หลังเกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นวงกว้างเมื่อปี 2019

สำนักงานของจีนที่รับผิดชอบความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงออกแถลงการณ์สนับสนุนการตัดสินใจนำเสนอรางวัลนำจับนักเคลื่อนไหวเหล่านี้ โดยให้เหตุผลว่า บุคคลเหล่านี้ร่วมกระทำการ “ต่อต้านจีน” และสั่นคลอนเสถียรภาพของฮ่องกง

ในเวลานี้ มีนักเคลื่อนไหวทั้งหมด 19 คนที่อยู่ในรายชื่อของผู้ที่ทางการฮ่องกงต้องการตัว และมีการติดภาพขาวดำของ “ผู้หลบหนี” ทั้งหมดนี้ตามที่สาธารณะต่าง ๆ ทั่วฮ่องกง ซึ่งรวมถึงที่สนามบินด้วย

สำหรับผู้ที่ถูกทางการฮ่องกงประกาศยกเลิกพาสปอร์ตภายใต้มาตราใหม่ของกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่เพิ่งผ่านออกมาเมื่อต้นปีนี้ คริส ถัง รัฐมนตรีความมั่นคงฮ่องกงกล่าวว่า “พวกเขาจะกลายมาเป็นพวกที่ไม่มีอัตลักษณ์แล้ว”

  • ที่มา: รอยเตอร์