ศาลฮ่องกงตัดสินบก.ข่าวสองรายมีความผิดข้อหายุยงปลุกปั่น

ชุง ปุยคุน อดีต กรรณาธิการใหญ่ ของสื่อ Stand News วันที่ 29 ส.ค. 2024 หลังจากศาลฮ่องกงตัดสินว่าเขามีความผิดในข้อหายุยงปลุกปั่น

ศาลฮ่องกงตัดสินในวันพฤหัสบดีให้บรรณาธิการสองรายของหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งมีความผิด ในข้อหาเผยเเพร่บทความยุยงปลุกปั่น ในกรณีซึ่งสร้างความสนใจจากต่างประเทศ ในเวลาที่ทางการฮ่องกงใช้มาตรการปราบปรามด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง

ในคดีดังกล่าว ชุง ปุยคุน และเเพทริค เเลม ซึ่งถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 23 กันยายน ปีที่เเล้ว คือผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด โดยทั้งสองทำงานให้กับสื่อ Stand News ซึ่งปัจจุบันได้ปิดตัวลงไปแล้ว

ทั้งคู่อาจถูกสั่งจำคุกสูงสุด 2 ปี ท่าทีของศาลนี้เป็นการตัดสินการกระทำความผิดครั้งแรกต่อนักข่าวในข้อหายุยงปลุกปั่น ตั้งเเต่ฮ่องกงเปลี่ยนผ่านจากการอยู่ภายใต้อังกฤษมาสู่จีน เมื่อปี ค.ศ. 1997

เสียงวิจารณ์คำตัดสินนี้มาจากหลายทิศทาง ซึ่งรวมถึงรัฐบาลอเมริกัน ที่กล่าวว่าเหตุการณ์นี้สะท้อนถึงการเสื่อมถอยลงของเสรีภาพสื่อภายใต้มาตรการปราบปรามที่ดำเนินมาหนึ่งปี ของรัฐบาลฮ่องกงที่ปกครองโดยจีน

ในอดีต สื่อStand News เป็นสื่อออนไลน์อันดับต้น ๆ ที่เสนอรายงานเชิงวิจารณ์และบทความเเสดงความเห็น และเมื่อเดือนธันวาคม 2021 สำนักงานของสื่อเเห่งนี้ถูกตำรวจเข้าค้น รวมทั้งถูกอายัดทรัพย์สิน จนนำไปสู่การปิดตัวลง

ชุง วัย 54 ปีและเเลม วัย 36 ปี รวมทั้งบริษัท Best Pencil (Hong Kong) บริษัทเเม่ของ Stand News ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันตีพิมพ์บทความที่ยุยงปลุกปั่น สืบเนื่องจากบทความข่าวและบทเเสดงความเห็นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2020 ถึง ธันวาคม 2021

บรรณาธิการทั้งสองปฏิเสธต่อศาลว่าพวกตนไม่ได้กระทำผิดใด ๆ

ผู้พิพากษาคว้อก เว่ยคิน เขียนในคำตัดสินว่า "เมื่อการเเสดงความเห็นได้รับการพิจารณาว่ามีความจงใจยั่วยุปลุกปั่น มีการพิจารณาเหตุการณ์เเวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง และถูกพบว่าสร้างความเสียหายต่อความมั่นคงของชาติ จึงต้องถูกทำให้ยุติลง"

ตลอดการดำเนินคดี 57 วัน อัยการของรัฐ เลอรา อึง กล่าวว่า Stand News เปิดพื้นที่ให้กับ อุดมการณ์ "ที่ผิดกฎหมาย" และปลุกปั่นให้ผู้อ่านเกลียดชังรัฐบาลจีนและฮ่องกง

ในบรรดาบทความที่ถูกมองว่ายุยงปลุกปั่น รวมถึงบทความเเสดงความเห็นโดยนักรณรงค์ เนธาน ลอว์ และซันนี เชิงที่เดินทางออกนอกฮ่องกงไปแล้ว รวมทั้งอัลลัน โอ อดีตผู้บริหารสื่อ Apple Daily ที่ถูกคุมขัง

อะเล็กซานดรา เบลาโควสกา แห่งองค์กร Reporters without Borders กล่าวว่า "คำตัดสินนี้เป็นตัวอย่างที่อันตรายมากที่รัฐบาลปักกิ่งอาจใช้เพื่อกำราบความคิดเห็นอิสระ"

  • ที่มา: รอยเตอร์