Your browser doesn’t support HTML5
ฮิปโปเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใหญ่เป็นอันดับที่สามของโลกรองจากช้างและแรด ชื่อของฮิปโปมาจากภาษากรีกโบราณที่แปลว่าม้าน้ำจืด ฮิปโปใช้เวลาเกือบ 16 ชั่วโมงต่อวันในน้ำและขึ้นมาแทะเล็มหญ้าบนบกในช่วงกลางคืน
ฮิปโปกินหญ้าเป็นอาหารหลักและต้องกินหญ้าถึง 200 กิโลกรัมต่อมื้อ นี่ทำให้มูลของฮิปโปที่ถ่ายลงในน้ำมีประโยชน์มหาศาลต่อสัตว์น้ำในแม่น้ำและทะเลสาปของแอฟริกา
คุณ Douglas McCauley และทีมนักวิจัยจึงตัดสินใจศึกษาเรื่องนี้ เขากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าทีมงานเริ่มศึกษาฮิปโปและตระหนักว่าฮิปโปถ่ายมูลลงแม่น้ำในปริมาณมากซึ่งกลายเป็นอาหารสำคัญของสัตว์น้ำ
คุณ McCauley เป็นผู้ช่วยศาสตรจารย์ด้านนิเวศวิทยา การวิวัฒนาการและชีววิทยาสัตว์น้ำที่มหาวิทยาลัย University of California Santa Barbaba เขากล่าวว่าฮิปโปเป็นสัตว์ที่มีบทบาทต่อระบบนิเวศวิทยาทั้งบนบกและในน้ำเพราะอาศัยในน้ำและหากินบนบก เขากล่าวว่าฮิปโปกินหญ้าในปริมาณมหาศาลต่อวันแล้วถ่ายลงในแม่น้ำและทะเลสาป ของเสียจากฮิปโปกลายเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญในปริมาณมากแก่สัตว์น้ำและยังเป็นปุ๋ยธรรมชาติที่กระจายไปในน้ำและบนบก
จากการประมาณของทีมนักวิจัย ฮิปโปหนึ่งปล่อยมูลปีละ 60,000 กิโลกรัมลงในแม่น้ำและทะเลสาปในแอฟริกา
คุณ McCauley กล่าวว่าฮิปโปเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ มีน้ำหนักตัวถึง 4,000 - 8,000 ปอนด์ ดังนั้นจึงกินอาหารในปริมาณมากและหากมองทั่วทั้งทวีปแอฟริกาแล้ว จะเห็นว่าฮิปโปทั้งหมดมีน้ำหนักตัวรวมกันแล้วหลายล้านกิโลกรัม และยังสร้างมูลปริมาณมหาศาลเช่นกัน มูลของฮิปโปมีลักษณะเหมือนฟางเพราะมันกินหญ้าเป็นอาหาร
คุณ McCauley กล่าวว่าฮิปโปมีริมฝีปากที่ใช้งานได้เหมือนกับเครื่องตัดหญ้าที่สามารถเล็มหญ้าจนสั้นติดพื้นได้ หญ้าที่สั้นจนติดพื้นจะกลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญเฉพาะสำหรับฮิปโป
คุณ McCauley กล่าวว่ามูลของฮิปโปมีคุณค่าอย่างมาก มีไนโตรเจนสูง มีคาร์บอนและฟอสฟอรัส สารอาหารเหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบชีวิตในแม่น้ำ เป็นห่วงโซ่อาหารระดับพื้นฐานของชีวิตแก่สัตว์น้ำบางชนิด ถือได้ว่าฮิปโปเป็นผู้สร้างแหล่งอาหารแก่สัตว์น้ำอื่นๆ สัตว์บางชนิดจะกินมูลฮิปโปเข้าไปโดยตรง สัตว์บางชนิด อาทิ ปลา จะกินแมลงที่กินมูลฮิปโป
คุณ McCauley ชี้ว่าฮิปโปเป็นตัวสร้างชีวิตในแม่น้ำและทะเลสาปในแอฟริกา แต่เขากล่าวว่าหากน้ำไหลช้าเกินไปอาจจะเกิดผลเสีย เพราะมูลฮิปโปอาจจะมีปริมาณมากเกินไปสำหรับระบบนิเวศวิทยาและกลายเป็นตัวสร้างมลพิษ แต่หากมีปริมาณน้ำมากพอก็จะช่วยเจือจางมูลฮิปโปลงได้
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยชี้ว่าประชากรฮิปโปได้ลดลงซึ่งสร้างความกังวลว่าจะเกิดผลเสียตามมา คุณ McCauley ชี้ว่าฮิปโปลดจำนวนลงทั่วแอฟริกาทางใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ฮิปโปลดลง 10-20 เปอร์เซ็นต์ บางประเทศอย่างอียิปต์ไม่มีฮิปโปหลงเหลืออยู่เลย
นักวิจัยชี้ว่ามนุษย์เป็นต้นเหตุหลักของการลดลงของจำนวนฮิปโป เนื่องจากการล่าและการสูญเสียที่อยู่อาศัยเพราะมีจำนวนคนเพิ่มมากขึ้น
คุณ McCauley กล่าวปิดท้ายรายงานว่า จำเป็นต้องมีการจัดการน้ำอย่างรอบคอบทั้งเพื่อคนและเพื่อสัตว์ป่า และความอยู่รอดของคน สัตว์ป่า ตลอดจนระบบนิเวศวิทยามีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด