องค์การอนามัยโลกชี้มีคนทั่วโลก "ฆ่าตัวตาย" ทุก 40 วินาที! แต่เรื่องนี้สามารถป้องกันได้

Your browser doesn’t support HTML5

World Health Organization Says Suicide Can Be Prevented

Your browser doesn’t support HTML5

Health Suicide Prevention

การฆ่าตัวตายเกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก ทั้งในประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน องค์การอนามัยโลกหรือ WHO เปิดเผยว่าราว 75 เปอร์เซ็นต์ของการฆ่าตัวตายทั้งหมด เกิดขึ้นในประเทศรายได้ต่ำถึงรายได้ปานกลาง และคนที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงคือเด็กวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวอายุ 20 ปีต้นๆ

แต่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ชี้ว่า เราสามารถป้องกันการฆ่าตัวตายได้

โดโรธี พอว์ บอกว่าตนเองอายุเพียงเก้าปีตอนที่บิดาฆ่าตัวตาย เธอมาเยี่ยมที่หลุมฝังศพของพ่อที่สุสานอาร์ลิงตั้น (Arlington Cemetery) ซึ่งเป็นสุสานเฉพาะสำหรับทหารวีรบุรุษ โดยพ่อของคุณพอว์ยิงตัวเองเสียชีวิตตอนที่เธออยู่ที่สระว่ายน้ำ

คุณพอว์บอกว่าความเป็นเด็กของเธอสิ้นสุดลงในวันที่พ่อเสียชีวิต เพราะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตัวเองหมดสิ้นความรู้สึกมั่นคง และมองว่าโลกนี้ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป เธอคิดว่าสำคัญมากที่คนทั่วไปต้องไม่มองว่าคนที่ปลิดชีวิตตนเองเป็นคนขี้ขลาด เพราะบิดาของเธอเป็นคนกล้าหาญ เป็นทหารรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ว่าตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ทางจิตใจมากเกินไป

และเกือบ 50 ปีต่อมา ชีวิตของคุณพอว์ต้องประสบกับความสูญเสียแบบเดียวกันนี้อีกครั้ง

เธอบอกว่า ปีเตอร์ ลูกชายของเธอปลิดชีวิตตัวเองในปี ค.ศ. 2012 ลูกชายของคุณพอว์ซื้อปืนมาหนึ่งกระบอกเพื่อใช้ในการฝึกยิงกับน้องชาย และใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวเ พราะเขาคิดว่าแถวบ้านที่เขาอยู่ไม่ปลอดภัย คุณพอว์มองที่ภาพถ่ายของลูกชายที่ปลิดชีวิตตนเองตอนอายุ 25 ปี ด้วยความอาลัย

คุณพอว์บอกว่ารูปนี้เป็นรูปถ่ายของปีเตอร์ที่เธอชอบมาก เพราะมีรอยยิ้มเล็กๆ บนใบหน้าของลูก ลูกชายมีดวงตาสีฟ้าที่ดูเคร่งขรึม กำลังใส่ใจและกำลังมองดูโลกที่อยู่ข้างหน้าด้วยความรัก

ทุกปีมีคนเสียชีวิตราว 800,000 คนทั่วโลกจากการฆ่าตัวตาย องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่าตัวเลขนี้แสดงว่ามีคนปลิดชีวิตตัวเองทุกๆ 40 วินาที การฆ่าตัวตายมีผลกระทบต่อครอบครัว สังคมและชุมชนตามมา

เธอบอกว่าการฆ่าตัวตายของปีเตอร์ สร้างผลกระทบต่อทั้งน้องชาย แฟนสาว ตัวเธอเองและสามี เป็นผลกระทบที่คงอยู่ยาวนาน ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะทำใจได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าสามารถป้องกันการฆ่าตัวตายได้หากรัฐบาลในประเทศต่างๆ มีนโยบายออกมาป้องกันการเสพสุราและยาเสพติด ทำให้อาวุธปืนปลอดภัยมากขึ้น ให้บริการด้านคำปรึกษาและช่วยเหลือคนที่เป็นโรคซึมเศร้าและโรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า

พอล จอนฟรีโด ประธานหน่วยงาน Mental Health America ที่รณรงค์ต่อต้านการฆ่าตัวตาย กล่าวว่า เขาเทียบคนที่เป็นโรคจิตเภทเหมือนกับคนที่เป็นมะเร็งในระยะต่างๆ และเมื่อคนมาถึงจุดที่ต้องการฆ่าตัวตายก็เทียบได้กับการเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย

คุณโดโรธี พอว์ กล่าวว่าประสบการณ์ที่แสนเจ็บปวดทั้งสองครั้งนี้ บันดาลใจให้เธอออกมารณรงค์การป้องกันการฆ่าตัวตาย เธอบอกว่าหากคุณเห็นใครที่คิดว่ากำลังมีปัญหา ให้ถามตรงๆ ว่ากำลังคิดจะฆ่าตัวตายอยู่หรือเปล่า แม้ว่าจะไม่ใช่บทสนทนาที่น่าพึงประสงค์แต่ก็ดีกว่าการจบลงด้วยงานศพ

เธอต้องการรณรงค์ให้คนทั่วไปเข้าใจว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ป้องกันได้

(ทักษิณา ข่ายแก้ว เรียบเรียงจากห้องข่าววีโอเอ)