Your browser doesn’t support HTML5
ผู้นำสหรัฐฯ ออกคำสั่งห้ามประชาชนจากเจ็ดชาติมุสลิมเข้าสหรัฐฯ โดยอ้างว่าจะช่วยปกป้องการก่อการร้ายในอเมริกา แต่นักจิตวิทยาหลายคนไม่เห็นด้วย โดยบอกว่าประเทศบ้านเกิดของผู้ก่อเหตุไม่ใช่ปัจจัยหลัก
มีการอ่านชื่อเหยื่อ 49 รายที่งานรำลึกผู้เสียชีวิตในเหตุสังหารหมู่ในไนท์คลับใน Orlando รัฐ Florida เมื่อปีที่แล้ว เหตุยิงสังหารหมู่ครั้งนั้นถือว่าเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
ในเหตุการณ์ที่คนร้ายขับรถบรรทุกพุ่งเข้าใส่ฝูงชนในเมือง Nice ที่ฝรั่งเศส มีคนเสียชีวิต 86 คน รวมทั้งเด็กเล็กจำนวนหนึ่ง และเมื่อ 4 ปีที่เเล้ว เหตุยิงสังหารหมู่ที่ Navy Yard ในกรุงวอชิงตัน ทำให้คนเสียชีวิต 12 คน
การศึกษาหลายชิ้นโดยหน่วยงานข่าวกรองเอฟบีไอของสหรัฐฯ ภาควิชาการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันอื่นๆ พบว่าเกิดเหตุสังหารหมู่เพิ่มขึ้นสามเท่าตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ในสหรัฐฯ ปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติเป็นอาวุธที่อาชญากรสังหารหมู่นิยมใช้ แต่ก็เคยมีการใช้รถบรรทุกปุ๋ยเคมีเต็มคันรถเพื่อใช้เป็นระเบิดที่มีความรุนแรง อย่างที่เกิดขึ้นในเมือง Oklahoma City ในปี ค.ศ. 1995
ในปี ค.ศ. 2001 อาวุธที่ผู้ก่อการร้ายใช้คือเครื่องบินโดยสาร โดยกลุ่มผู้จี้เครื่องบินบังคับเครื่องบินเข้าชนอาคารสำคัญๆ ในมหานครนิวยอร์คและในกรุงวอชิงตัน
J. Reid Meloy นักจิตวิทยาพิสูจน์หลักฐานที่ศึกษาการสังหารหมู่ และเป็นอาจารย์สอนวิชาจิตวิทยาที่ University of California ใน San Diego กล่าวกับวีโอเอว่า จากการศึกษาประวัติของอาชญากรสังหารหมู่ พบว่าคนร้ายเหล่านี้มีความเหมือนกันหลายอย่างมากกว่าความเเตกต่าง
ในการสัมภาษณ์ อาจารย์ Meloy กล่าวว่า อาชญากรสังหารหมู่มักมีประวัติว่ามีปัญหาทางจิต ส่วนมากเป็นผู้ชาย มีความสัมพันธ์ด้านความรักที่ไม่ราบรื่น และก่อเหตุสังหารหมู่เพื่อเรียกร้องสถานภาพ อย่างเหตุสังหารหมู่ที่ไนท์คลับใน Orlando
อาจารย์ Meloy กล่าวว่าเเม้ว่าบรรดามือสังหารหมู่จะอ้างว่ามีเหตุจูงใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาก่อเหตุ
ผู้เชี่ยวชาญอเมริกันกล่าวว่า บ่อยครั้งที่เส้นทางสู่การก่อเหตุร้ายมักเริ่มต้นจากความทุกข์ใจส่วนตัว ซึ่งทั่วไปมีองค์ประกอบสามอย่าง
ประการเเรก คือการสูญเสียบางสิ่งบางอย่าง
ประการที่สอง เป็นความรู้สึกเสียหน้า
ประการที่สาม คือความโกรธต่อผู้อื่น และกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของคนอื่นหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งว่าเป็นต้นเหตุให้ตนเองประสบกับปัญหา
อาจารย์ Meloy กล่าวว่าการเข้าถึงอาวุธปืนช่วยให้คนเหล่านี้สามารถก่อเหตุร้ายได้ แต่โอกาสในการได้รับความสนอกสนใจจากคนอื่นผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จูงใจให้พวกเขาก่อเหตุร้าย
เขากล่าวว่าสื่ิอสังคมออนไลน์ช่วยให้มือสังหารหมู่ที่โหดร้ายน่ารังเกียจ กลายเป็นคนมีชื่อเสียง และเมื่อคนอื่นได้ชมภาพสดการสังหารหมู่เหล่านั้นทางสื่อสังคมออนไลน์ ก็อาจจะอยากลอกเลียนเเบบ
อาจารย์ Meloy สรุปว่าคนที่เคยประสบกับความรุนแรง มักเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนที่ก่อเหตุรุนแรง และท้ายสุด เขาคาดการณ์ว่าจะเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่มากขึ้นในอนาคตทั่วโลก ยิ่งคนสามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้ง่ายมากขึ้น
(รายงานโดย Carol Pearson / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว)