Your browser doesn’t support HTML5
เป็นเรื่องแปลกที่อาจารย์สอนคณะบริหารธุรกิจจะหันมาเขียนหนังสือเกี่ยวกับการแสวงหาความสุข ที่ย้ำว่าเงินไม่ใช่เรื่องสำคัญ
แต่ความขัดกันนี้น่าจะมีส่วนทำให้อาจารย์ Raj Raghunathan จากมหาวิทยาลัยเท็กซัสวิทยาเขตออสติน ได้นำเสนอข้อคิดที่เจาะลึกถึงแนวทางการค้นหาความสุขที่แท้จริงของแต่ละบุคคลได้
เขาเป็นอาจารย์วิชาการตลาด และเริ่มวิชาที่เกี่ยวกับความสุขมาเจ็ดปีแล้ว และปรากฏว่ามีนักเรียนลงเรียนทั้งหมดหลายพันคน ทั้งที่มหาวิทยาลัยเท็กซัสและสถาบันพันธมิตรในอินเดีย Indian School of Business
เมื่อเวลาผ่านไปอาจารย์ Raghunathan จึงกลั่นความรู้ที่สั่งสมมาลงในหนังสือของเขา
หนังสือ "If You’re So Smart, Why Aren’t You Happy" เริ่มตั้งคำถามตั้งแต่คนเริ่มเห็นปกหนังสือว่า "ทำไมคนที่ฉลาดจึงไม่ทำชีวิตตนเองให้มีความสุขได้?"
อาจารย์ Raghunathan บอกว่าความสุขเป็นอารมณ์ความรู้สึกชนิดหนึ่ง แต่หากให้เราคิดเกินกว่านั้น เป็นเรื่องยากที่จะระบุให้แน่ชัดว่าความสุขคืออะไร
ความสุขเป็นไปได้หลายอย่างแล้วแต่ว่าเราถามใคร ถ้ามองลึกๆ ความสุขเป็นมากกว่าความรู้สึกที่ดี เพราะความสุขดีต่อสุขภาพ ทำให้คนทำงานเก่ง และเป็นมิตรกับผู้อื่น นอกจากนั้นความสุขทำให้คนอายุยืนด้วย
อาจารย์วิชาการตลาดผู้นี้บอกว่า คนเรามีจุดมุ่งหมายในชีวิตสามประการใหญ่ๆ ที่คล้ายกัน หนึ่งคืออยากเก่งอะไรสักอย่าง สองอยากมีความรู้สึกว่าตนได้รับการยอมรับ และกลมกลืนกับสังคมของคน และสามคือต้องการมีความสามารถควบคุมชีวิตตนเอง
ในหนังสือของอาจารย์ Raghunathan เขาบอกว่า หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตเป็นปัจจัยขวางการทำจุดมุ่งหมายสามประการให้สำเร็จ ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น "บาปแห่งความสุข" หรือ "happiness sins"
บาปที่ว่าได้แก่ การใฝ่หาเงิน ชื่อเสียง และความงาม จะยิ่งเกิดขึ้นง่าย หากว่าคนประสบความสำเร็จมากขึ้น
เขากล่าวเสริมว่า การมองโลกสองแบบมีผลต่อการดำเนินชีวิตให้มีความสุข แบบแรกคือการมองโลกแบบคนที่มีสมบูรณ์เพียงพอ แบบที่สองคือการมองจากมุมของการขาดแคลนและต้องแสวงหา
การมองโลกแบบสมบูรณ์เพียงพอ หรือ abundance mindset ทำให้คนรู้สึกว่าชีวิตของตนนั้นดี และมีทุกสิ่งที่ทำให้ตนมีความสุข จึงไม่ต้องแสวงหาจากสิ่งรอบตัว แต่มุมมองที่ขาดแคลนหรือ scarcity mindset ทำให้คนหิวโหย แสวงหาและสะสม
ผู้ที่อยากขับเคลื่อนการมองโลกให้เป็นแบบสมบูรณ์และเพียงพอ และการเลี่ยงบาปแห่งความสุขอย่างที่กล่าวมา ต้องฝึกหัดและจัดระเบียบหลายได้ ซึ่งอาจารย์ Raghunathan แนะนำและให้แบบฝึกหัดไว้เจ็ดอย่าง
หนึ่ง คือการจัดระดับความสำคัญของความสุขในชีวิต และต้องเตือนตัวเองเมื่อต้องตัดสินใจครั้งสำคัญว่าอะไรคือความสุขในชีวิต
สอง กล่าวขอบคุณผู้ที่มีอิทธิพลทางบวกต่อชีวิต
สาม รู้จักแบ่งปันต่อคนที่ไม่รู้จัก
สี่ ฝึกดำเนินชีวิตที่ดีต่อสุภาพ นอนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกาย
ห้า ไม่เก็บงำความโกรธและอาฆาตผู้อื่น
หก หัดมองโลกในแง่ดีแม้ในสถานการณ์ร้ายๆ
เจ็ด ฝึกจิตให้จดจ่อกับปัจจุบัน
หากทำได้ทั้งเจ็ดข้ออาจารย์ Raghunathan บอกว่าชีวิตจะมีความสุขขึ้น
(รายงานโดย Faiza Elmasry / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)