“Grab” เตรียมเข้าตลาดหุ้นผ่านการรวมกิจการ SPAC มูลค่าสูงสุด 40,000 ล้านดอลลาร์

Grabbike drivers on strike in Ho Chi Minh City (Photo: VTC)

Your browser doesn’t support HTML5

Business News


สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทแกร็บ โฮลดิงส์ (Grab Holdings) ผู้ให้บริการเรียกรถ, แท็กซี่, วินมอเตอร์ไซค์, ส่งพัสดุ และสั่งอาหาร ผ่านทางแอปพลิเคชันบนมือถือ รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรลุข้อตกลงรวมตัวกับบริษัท Altimeter Growth Corp ซึ่งเป็นบริษัทในลักษณะที่เรียกว่า special-purpose acquisition company (SPAC) และเตรียมตัวเข้าตลาดหุ้นในสหรัฐฯ เร็ว ๆ นี้

รอยเตอร์รายงานว่า ภายใต้ข้อตกลงรวมกิจการครั้งนี้มีการประเมินมูลค่าตามราคาตลาดของ Grab อยู่ที่ 40,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะถือเป็นบริษัทที่เข้าตลาดด้วย SPAC ที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นสถิติใหม่ ทำลายสถิติเดิมของ Lucid Motors เมื่อเดือนกุมภาพันธ์

SPAC หรือบริษัท “เช็คเปล่า” เป็นบรฺิษัทที่ไม่มีสินทรัพย์หรือธุรกิจของตัวเองอย่างเฉพาะเจาะจง บริษัทประเภท SPAC มีหน้าที่ระดมเงินจากนักลงทุน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รอไว้ก่อนที่จะออกไปหาซื้อ หรือควบรวมกิจการกับบริษัทเอกชน และทำให้บริษัทเอกชนนั้น ๆ กลายเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปโดยปริยาย เปรียบเหมือนทางลัดในการเข้าตลาดหุ้น

แอนโธนี ตัน (Anthony Tan) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Grab วัย 39 ปี กล่าวกับรอยเตอร์ว่า การตัดสินใจเข้าตลาดหุ้นครั้งนี้จะทำให้บริษัทมีเงินทุนมากขึ้นในการเพิ่มเครือข่ายการส่งสินค้าและอาหาร รวมทั้งสามารถขยายเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ๆ เช่น ธนาคารดิจิทัลและระบบจ่ายเงินออนไลน์

แอนโธนี ตัน และ ตัน ฮูย หลิง (Tan Hooi Ling) ศิษย์เก่า Harvard Business School ร่วมก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ Grab ในมาเลเซียเมื่อปี ค.ศ. 2012 โดยเริ่มต้นจากแอปฯ เรียกรถแท็กซี่ ก่อนที่จะขยายกิจการอย่างรวดเร็วไปยังธุรกิจส่งอาหารและพัสดุใน 8 ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตของธุรกิจดิจิทัลแบบก้าวกระโดด

เมื่อ 3 ปีก่อน Grab สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกด้วยการซื้อกิจการของอูเบอร์ (Uber) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลายเป็นบริษัทสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าสูงที่สุดในแถบอาเซียน โดยเมื่อปีที่แล้ว Grab มีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 70%เป็น 1,600 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจส่งอาหารที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงการระบาดของโควิด-19

การเข้าตลาดหุ้นครั้งนี้จะทำให้ Grab มีกำลังมากขึ้นในการเจาะตลาดอินโดนีเซียซึ่งขณะนี้ครอบครองโดยบริษัทโกเจ็ค (Gojek) ของอินโดนีเซียเอง ที่ใกล้จะควบรวมกิจการกับบริษัทผู้นำด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ชของอินโดนีเซีย โทโกพีเดีย (Tokopedia) เช่นกัน