ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทำความรู้จัก SPAC หรือบริษัท 'เช็คเปล่า' ทางเลือกการระดมทุนที่กำลังมาแรง เตรียมแซง IPO


The Wall Street sign is pictured at the New York Stock exchange (NYSE) in the Manhattan borough of New York City, New York, U.S., March 9, 2020.
The Wall Street sign is pictured at the New York Stock exchange (NYSE) in the Manhattan borough of New York City, New York, U.S., March 9, 2020.

ปรากฎการณ์ใหม่ที่เป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในโลกการเงินและตลาดหลักทรัพย์ คือความนิยมที่เพิ่มมากขึ้น ความบูมของบริษัทรูปแบบหนึ่งที่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยที่ไม่ต้องมีธุรกิจ ไม่ต้องมีลูกค้า หรือไม่ต้องมีผลประกอบการใด ๆ บริษัทประเภทนี้ เรียกว่า SPAC หรือที่ย่อมาจาก Special Purpose Acquisition Company นั่นเอง

สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า SPAC ไม่ต่างจากบริษัท shell company (เชลล์ คอมพานี) หรือ บริษัทที่เป็นแค่เปลือก หรือโครง ไม่มีสินทรัพย์หรือหน่วยปฏิบัติงานของตัวเองอย่างชัดเจน บริษัทประเภท SPAC มีหน้าที่ระดมเงินจากนักลงทุน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก่อนที่จะออกไปหาซื้อ หรือควบรวมกิจการกับบริษัทเอกชน และทำให้บริษัทเอกชนนั้น ๆ กลายเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปโดยปริยาย

SPAC มักจะมองหาบริษัทเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ดูแล้วว่ามีแววเติบโตในอนาคต ก่อนจะเข้าซื้อ จึงทำให้ SPAC มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "Blank-check company" หรือบริษัท "เช็คเปล่า" ซึ่งหมายถึงว่า หลังจากที่นักลงทุนกลุ่มแรกลงขันเงินก้อนแรกแล้ว บริษัทจะสามารถนำเงินทุนก้อนนั้นไปซื้อบริษัทเอกชนใดก็ได้ โดยไม่มีข้อห้าม

The NASDAQ market site displays an AirBnb sign on their billboard on the day of their IPO in Times Square in the Manhattan borough of New York City, New York, U.S., December 10, 2020.
The NASDAQ market site displays an AirBnb sign on their billboard on the day of their IPO in Times Square in the Manhattan borough of New York City, New York, U.S., December 10, 2020.

ยุคทองของบริษัท "เช็คเปล่า"

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ SPAC ได้รับความนิยมอย่างมาก เป็นเพราะนักลงทุนและบริษัทเอกชนหลายแห่งมองว่าการจัดตั้งบริษัทลักษณะนี้ เป็นวิธีลัดที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และระดมทุน และเป็นวิธีที่ง่ายกว่าการทำ IPO (Initial Public Offering) ซึ่งหมายถึงวิธีที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้ประชาชนทั่วไป เพื่อที่จะมาจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

การทำ IPO ซึ่งเป็นวิธีที่บริษัทมหาชนส่วนใหญ่ทำมาตลอดนั้น มีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่า ต้องมีการทำโรดโชว์ ต้องสร้าความมั่นใจให้กับผู้ซื้อหุ้น และมีหน่วยงานที่เข้ามาสอดส่องดูแลมากมายเช่นคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ เป็นต้น

ในขณะที่บริษัท "เช็คเปล่า" ทำให้การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดนั้นง่ายกว่ามาก ไม่ถูกตรวจสอบเท่ากับการทำ IPO จึงทำให้บริษัทเอกชนหลายแห่งต้องการที่จะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในรูปแบบนี้

SPAC คู่แข่งใหม่ของ IPO?

ปีที่ผ่านมามีการเสนอขายหุ้นใหม่ให้ประชาชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO ทั้งหมด 194 ครั้ง คิดเป็นมูลค่าการระดมทุน 67,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นสถิติการทำ IPO ที่ดีที่สุดทั้งแต่ปี ค.ศ.​2014 ตามข้อมูลของ Renaissance Capital ในขณะที่ SPAC สามารถระดมทุนได้ใกล้เคียงกัน คือ 64,000 ล้านดอลลาร์ ​

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าในปีนี้ ผ่านไปยังไม่ถึงสองเดือน บริษัทที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบ SPAC สามารถระดมทุนไปได้แล้วเกือบ 46,000 ล้านดอลล่าร์

Sir Richard Branson, right, founder of Virgin Galactic, and company executives gather for photos outside the New York Stock Exchange before his company's IPO, Monday, Oct. 28, 2019.
Sir Richard Branson, right, founder of Virgin Galactic, and company executives gather for photos outside the New York Stock Exchange before his company's IPO, Monday, Oct. 28, 2019.

ที่ผ่านมาบริษัทอย่าง Virgin Galactic ของริชาร์ด แบรนสัน หรือ DraftKings ธุรกิจพนันกีฬาออนไลน์ ก็เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ผ่านการควบรวมกับ shell company อย่าง SPAC เช่นกัน ทำให้โพรไฟล์ของบริษัทประเภท SPAC โดดเด่นขึ้นมามาก

SPAC ให้ผลตอบแทนอย่างงามกับผู้ที่เป็น sponsor หรือผู้ที่ลงเงินก้อนแรกลงไปก่อนที่ SPAC จะกลายเป็นบริษัทจดทะเบียน ตามปกติแล้ว sponsor จะได้ส่วนแบ่งถึง 20% หาก SPAC นั้นซื้อบริษัทเอกชนได้เรียบร้อย ไม่ว่าบริษัทที่ซื้อควบรวมกิจการมา จะมีผลประกอบการอย่างไรหลังจากนั้น ตามการรายงานของนิวยอร์กไทมส์

เพิ่มความน่าเชื่อถือด้วย "ชื่อ" นักลงทุนใหญ่

นอกจากนี้ SPAC มักจะได้รับความสนใจ เพราะมีนักลงทุนกลุ่มแรก หรือที่เรียกว่า สปอนเซอร์ (sponsor) ที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงของการเป็นนักลงทุนระดับโลกที่ประสบความสำเร็จ นักธุรกิจที่มีประสบการณ์สูง หรือเป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการกีฬา บันเทิง และการเมือง เช่น ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) นักธุรกิจอภิมหาเศรษฐีเจ้าของ Virgin Galactic หรือ นักกีฬาชื่อดัง คอลิน แคเปอร์นิค (Colin Kaepernick) ที่มี SPAC มูลค่า 250 ล้านดอลลาร์เป็นของตัวเอง

ชื่อของนักลงทุนเหล่านี้ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัท "เช็คเปล่า" เหล่านี้ ในขณะที่ผู้ที่เป็นนักลงทุนสปอนเซอร์ ก็พยายามดึงนักลงทุนดัง ๆ เข้ามาร่วมด้วยอีกทอด

SPAC แผ่ขยายทั่วโลก

ในปีที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของบริษัทประเภท SPAC เห็นได้ในสหรัฐฯ อเมริกาเท่านั้น แต่ปีนี้ ความนิยมของ SPAC ได้ลุกลามไปถึงยุโรป ล่าสุดบิสซิเนส อินไซด์เดอร์​ (Business Insider) รายงานว่า เบอร์นาร์ด อาร์โนลท์ (Bernard Arnault) อภิมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก เจ้าของ LVMH ผู้ผลิตแบรนด์หรูอย่าง หลุย วิตตอง (Louis Vuitton) กำลังจะก่อตั้งบริษัทในลักษณะ SPAC ร่วมกับคนดังและมหาเศรษฐีคนอื่น ๆ ของยุโรปเช่นกัน เพื่อจะไปหาซื้อบริษัทเอกชนด้านนวัตกรรมในยุโรป

Chairman and CEO of Luxury goods group LVMH Bernard Arnault leaves after a news conference, to announce a deal to simplify Christian Dior business structure, in Paris, France, April 25, 2017.
Chairman and CEO of Luxury goods group LVMH Bernard Arnault leaves after a news conference, to announce a deal to simplify Christian Dior business structure, in Paris, France, April 25, 2017.

ในเอเชีย มีรายงานว่าสิงคโปร์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังศึกษาดูว่าจะอนุญาตให้บริษัทลักษณะ SPAC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศหรือไม่ ในขณะที่สื่อ The Economist รายงานว่าบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ของเอเชีย อย่าง Gojek และ Tokopedia กำลังพิจารณาที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กโดยผ่านบริษัท shell company อย่าง SPAC เช่นกัน

SPAC ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นบริษัทประเภทหนึ่งที่มีอยู่ในโลกการเงินมานานแล้ว ถึงแม้ว่าจะเพิ่งได้รับความสนใจจากสื่อและสังคมเมื่อไม่นานมานี้ก็ตาม ก่อนหน้านี้หลายคนยังมองด้วยซ้ำว่า SPAC เป็นเรื่องสีเทาของโลกการเงิน จึงเป็นที่น่าจับตาดูว่าอนาคตของ SPAC จะเป็นอย่างไร และจะเป็นเครื่องมือการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ที่แซงหน้าการระดมทุน IPO แบบดั้งเดิมได้หรือไม่

XS
SM
MD
LG