การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก หรือ COP27 กำลังจะมีขึ้นที่เมืองชาร์ม เอล-ชีค ประเทศอียิปต์ ในสัปดาห์หน้า ซึ่งบรรดานักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมต่างพยายามผลักดันให้เกิดคำสัญญาในหมู่ประเทศพัฒนาแล้วให้เพิ่มมาตรการลดมลพิษและก๊าซคาร์บอนในการประชุมครั้งนี้
รายงานล่าสุดของโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ ระบุว่า ประชาคมระหว่างประเทศยังคงไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ระบุไว้ในสนธิสัญญากรุงปารีสเมื่อปีค.ศ. 2015 ว่าด้วยการลดก๊าซคาร์บอนที่เป็นสาเหตุของปรากฏการณ์เรือนกระจก เพื่อไม่ให้ระดับอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิในยุคก่อนอุตสาหกรรม
อินเกอร์ แอนเดอร์สัน ผอ.บริหารของโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ กล่าวกับวีโอเอว่า "75% ของก๊าซเรือนกระจกนั้นมาจากประเทศกลุ่ม G-20 ซึ่งมีขนาดอุจสาหกรรมใหญ่ที่สุด 20 ประเทศ ... ดังนั้นประเทศเหล่านี้ควรเพิ่มความพยายามมากขึ้น และนี่จะเป็นประเด็นสำคัญในการหารือที่ COP27 ที่ทวีปแอฟริกาในครั้งนี้"
การประชุม COP27 ที่อียิปต์ มีขึ้นในขณะที่หลายประเทศในแถบทางตะวันออกเฉียงเหนือของแอฟริกา เผชิญภัยแล้งครั้งรุนแรง โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่า ทวีปแอฟริกาปล่อยมลพิษออกมารวมกันเพียง 4% ของทั้งหมด แต่กลับได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนรุนแรงที่สุด
ทั้งนี้ เวที COP27 จะช่วยสร้างโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ ได้เจรจากันเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่วางไว้ ซึ่งแอนเดอร์สันชี้ว่า ทางออกนั้นชัดเจน คือ การมุ่งไปยังแหล่งพลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียน รถยนต์ไฟฟ้า อาคารประหยัดพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะต่าง ๆ
- ที่มา: วีโอเอ