พลเอกมาร์ค มิลลีย์ ประธานผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมของสหรัฐฯ พบหารือกับพลเอกวาเลรี ซาลูซห์นยี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของยูเครน ที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งทางใต้ของโปแลนด์ในวันอังคาร ซึ่งถือเป็นสัญญาณล่าสุดของของความร่วมมือทางทหารในสงครามยูเครนที่กินเวลาร่วม 11 เดือนแล้ว
พลเอกมิลลีย์ และพลเอกซาลูซห์นยี หารือเป็นเวลาสองชั่วโมงในสถานที่ใกล้พรมแดนยูเครน-โปแลนด์ ซึ่งเป็นการพบกับแบบซึ่งหน้าครั้งแรกของผู้นำทหารสูงสุดของสองประเทศนี้ และมีขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกกำลังส่งยุทโธปกรณ์มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ให้แก่ยูเครนเพื่อใช้ในการรับมือการรุกรานของรัสเซีย
แม้ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ยังคงรักษาจุดยืนว่าด้วยการไม่ส่งกำลังทหารเข้าไปร่วมรบในยูเครน แต่ก็มีส่วนร่วมเชิงยุทธศาสตร์ในสงครามครั้งนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งล่าสุดที่ตกลงส่งระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ แพทริออต (Patriot) ให้แก่ยูเครน และอนุญาตให้ใช้ฐานทัพในสหรัฐฯ เพื่อฝึกฝนทหารยูเครนใช้ระบบที่ว่านี้ด้วย
พันเอกเดฟ บัตเลอร์ โฆษกของพลเอกมิลลีย์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า พลเอกมิลลีย์และผู้นำทหารยูเครนต่างเล็งเห็นความสำคัญของการเจรจาแบบซึ่งหน้า แม้ว่าที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยติดต่อทางโทรศัพท์มาโดยตลอด
"เป็นสิ่งสำคัญเมื่อผู้บัญชาการทหารสองคนได้มองหน้ากันและหารือกันในประเด็นสำคัญ ถือเป็นความแตกต่างอย่างยิ่ง" พันเอกบัตเลอร์กล่าว พร้อมชี้ว่า พลเอกมิลลีย์จะได้มีโอกาสนำสิ่งที่พลเอกซาลูซห์นยีกล่าวในการหารือครั้งนี้ ไปถ่ายทอดให้บรรดาผู้นำทหารของชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ ได้รับทราบในการประชุมของนาโต้ในสัปดาห์นี้ รวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสนามรบ และสิ่งที่กองทัพยูเครนต้องการอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ พลเอกมิลลีย์ยังสามารถอธิบายความคืบหน้าของการฝึกฝนทหารยูเครนให้ใช้ระบบป้องกันทางอากาศ แพทริออต ที่จัดขึ้นที่ฐานทัพกราเฟนวอห์ร ในเยอรมนี ให้ทางผู้นำทหารยูเครนได้รับทราบ หลังจากที่พลเอกมิลลีย์ได้มีโอกาสไปชมการฝึกของทหารยูเครน 600 คนที่นั่นด้วยตนเองเป็นเวลาสองชั่วโมงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
พลเอกมิลลีย์และผู้บัญชาการทหารขององค์การนาโต้จะร่วมประชุมกันที่กรุงบรัสเซลล์ เบลเยียม ในวันพุธและวันพฤหัสบดีนี้ ต่อจากนั้นจะมีการหารือของกลุ่มที่ชื่อว่า Ukraine Contact Group ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางการทหาร 50 คน ที่ฐานทัพในเยอรมนีในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์
Your browser doesn’t support HTML5
บทบาทของเยอรมนี
ในวันอังคาร ยูเครนเข้าใกล้ไปอีกขั้นในการมีกองทัพรถถังที่ทันสมัยซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเปลี่ยนทิศทางสงครามกับรัสเซียได้ หลังจากที่รัฐบาลเยอรมนีเตรียมจัดส่งรถถังเลพพาร์ด (Leopard) ให้แก่ยูเครนภายใต้ข้อตกลงชุดแรกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่
ที่ผ่านมา เยอรมนีค่อนข้างระมัดระวังเรื่องการส่งอาวุธให้แก่ยูเครน เนื่องจากไม่ต้องการยกระดับความขัดแย้งในสงคราม แต่ชาติพันธมิตรอื่น ๆ แย้งว่า ความกังวลของเยอรมนีนั้นไม่ควรเกิดขึ้น เพราะรัสเซียไม่เคยส่งสัญญาณว่า จะลดระดับการโจมตียูเครนแต่อย่างใด
สำหรับสถานการณ์ล่าสุดในยูเครน รัสเซียอ้างว่า สามารถยึดครองเมืองโซเลดาร์ไว้ได้แล้ว แม้ว่ายูเครนยืนยันว่า ทหารของตนยังคงสู้รบเพื่อแย่งชิงการครอบครองเมืองดังกล่าว ขณะที่ รัสเซียระดมโจมตีทางอากาศใส่หลายเมือง รวมทั้งกรุงเคียฟ เมืองคาร์คิฟ และเมืองดนิโปร
ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี กล่าวปราศรัยประจำวันเมื่อคืนวันจันทร์ว่า การโจมตีที่เมืองดนิโปรยิ่งเน้นย้ำความสำคัญของการตัดสินใจอย่างรวดเร็วฉับไวเรื่องการส่งความช่วยเหลือทางทหารให้แก่ยูเครน
"สิ่งที่เกิดขึ้นในดนิโปร เน้นย้ำความสำคัญของการร่วมมือกันในทุกความพยายามของพันธมิตรเพื่อปกป้องยูเครนและเสรีภาพ... และเร่งการตัดสินใจ" เซเลนสกีกล่าว
- เนื้อหาบางส่วนจากเอพี เอฟพี และรอยเตอร์