นักศึกษาต่างชาติเจอการเเข่งขันสูงในการสอบเรียนต่อแพทย์ในสหรัฐฯ

Your browser doesn’t support HTML5

Foreign Medical Students Talk About Challenges in US

Your browser doesn’t support HTML5

Foreign Medical Students

แพทย์หญิง Fatima Ismail อายุ 32 ปี เติบโตในดูไบและอยากเป็นหมอมาตั้งแต่เล็กๆ เธอบอกว่าตนเองสนใจเรียนรู้การทำงานของสมองมาตลอด และรักที่จะทำงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก

ในตะวันออกกลางและในประเทศบ้านเกิดที่ดูไบ มีประชากรเด็กจำนวนมากที่มีความบกพร่องด้านพัฒนาการและไม่ได้รับการดูแลที่ดี

หลังจากเรียนจบด้านการเเพทย์จากประเทศบ้านเกิด เธอได้สมัครขอฝึกงานที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins ในเมือง Baltimore รัฐเเมรี่เเลนด์ ที่เธอเคยเป็นนักศึกษาเเลกเปลี่ยนตอนที่ยังเป็นนักศึกษาเเพทย์

แพทย์หญิง Fatima เป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษาวิชาการแพทย์ในสหรัฐฯ ในขณะนี้ เพื่อนๆ หลายคนบอกเธอว่า กว่าจะได้เข้าเรียน ได้ส่งใบสมัครไปมากสิบกว่าสถาบัน

แพทย์หญิง Fatima กล่าวว่าระดับการเเข่งขันสูงมากยิ่งเป็นนักศึกษาต่างชาติด้วยเเล้วเพราะมหาวิทยาลัยต่างๆ จะให้ความสำคัญกับผู้สมัครชาวอเมริกันก่อนเป็นอันดับเเรก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เธอบอกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องวางเเผนล่วงหน้า

Paul White ผู้อำนวยการฝ่ายการรับนักศึกษาภาควิชาการเเพทย์ที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins กล่าวว่า การวางเเผนเป็นหัวใจสำคัญสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่ต้องการเรียนต่อด้านการแพทย์ในสหรัฐฯ แม้ว่าวุฒิการศึกษาจากประเทศบ้านเกิดจะช่วยให้สมัครเข้าเรียนในสหรัฐฯ ได้ แต่ภาควิชาการแพทย์ในหลายมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ มักกำหนดว่านักศึกษาต่างชาติจะต้องผ่านการเรียนในสหรัฐฯ มาก่อนหน้าที่จะสมัครเข้าเรียน

Paul White กล่าวว่า ทางภาควิชาการเเพทย์ของมหาวิทยาลัยต้องการกำหนดให้นักศึกษาต่างชาติเรียน coursework เพิ่มเติมมาเเล้วอย่างน้อย 1 ปีในสหรัฐฯ เพื่อดูว่าเป็น coursework ประเภทใดที่นักศึกษามีความสามารถพอที่จะลงเรียนได้ และเรียนได้ดีแค่ไหน

และเเน่นอนว่าหากนักศึกษาเรียนได้ดีในสหรัฐฯ และทำคะเเนนข้อสอบเข้าได้ดี นักศึกษาก็จะผ่านการคัดเลือก

Karum Arora ชาวอินเดียเป็นนักศึกษาการแพทย์ปีที่สี่ด้านจักษุวิทยา เขาผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนในภาควิชาการเเพทย์ที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins เพราะเข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเเห่งนี้มาก่อน และยังเรียนจบหลักสูตรการวิจัยทางคลินิกที่ต้องเรียนสองปีอีกด้วย

Karum Arora กล่าวว่าไม่รู้จะหาคำพูดใดมาสาธยายคุณความดีของอาจารย์ปรึกษาหลายคนที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins ที่ช่วยเหลือและให้คำแนะนำในช่วงสองปีที่เรียนการวิจัย นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนเขาให้สมัครเข้าเรียนในภาควิชาการเเพทย์จนได้ และยังช่วยให้คำปรึกษาการทำโครงการต่างๆ เกี่ยวกับจักษุวิทยา และตอนนี้ก็กำลังหนุนให้เขาสมัครฝึกงานต่ออีกด้วย

บรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยเเนะว่า นักศึกษาต่างชาติควรสมัครขอฝึกงานในสหรัฐฯ หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านการเเพทย์ในประเทศบ้านเกิด หรือให้มาเรียนด้านการแพทย์ในระดับปริญญาตรีที่สหรัฐฯ เพราะเเม้เเต่ผู้สมัครที่มีเพียบพร้อมมากที่สุดยังเจอกับการเเข่งขันที่สูงมากกว่าจะได้เป็นเเพทย์ในสหรัฐฯ

(รายงานโดย Linda Ringe / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)