ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เดินตามฝัน!! กะเทาะชีวิตนักศึกษาอเมริกันผิวดำ... กับเงินช่วยเหลือเพื่อสานฝันการเป็นนักข่าว


เงินบริจาคจากศิษย์เก่าเพียงไม่มากอาจทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่อยากทำตามความฝันแต่ไม่มีทุน สามารถเริ่มเดินตามความฝันของพวกเขาได้

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:06 0:00

สังคมอเมริกันมีความหลากหลายทางเชื้อขาติ สีผิวและความเชื่อ และสื่อสหรัฐฯ ที่ต้องการสะท้อนความแตกต่างดังกล่าวเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่นักข่าวและนักเขียนของตนควรมาจากพื้นเพที่แตกต่างกันด้วย

แต่ความต้องการให้ห้องข่าวเป็นกระจกเงาของสังคม ประสบปัญหาตรงที่ว่าการเข้าถึงโอกาสก้าวแรกๆ ของงานในวงการนี้ มักจะเป็นหน้าที่เด็กฝึกงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง

กล่าวคือนักเรียนนักศึกษาที่สนใจเป็นนักข่าว ที่มาจากครอบครัวที่ฐานะไม่ดี มักรู้สึกว่าประตูบานแรกของการทำงานสื่อสารมวลชนยากที่จะก้าวข้าม

ดร. Meredith D. Clark อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Raleigh News & Observer เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ลงในเว็บไซต์ Poynter.org ว่าเงินบริจาคจากศิษย์เก่าเพียงไม่มาก อาจทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่มีทุนสามารถเริ่มสานฝันการเป็นนักข่าวได้

โอกาสและความสามารถที่มากขึ้น สำหรับเข้าถึงงานด้านสื่อสารมวลชนของนักเรียนที่ต้องพึ่งตนเองเป็นหลัก ในที่สุดแล้วอาจจะทำให้ห้องข่าวมีความหลากหลายทางความคิด มิใช่มีแต่เสียงที่สะท้อนมุมมองคนที่มีอภิสิทธิ์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในชีวิต

และท้ายสุดเรื่องราวของสังคมที่นักข่าวถ่ายทอดสู่สาธารณะ ก็จะผ่านเลนส์ที่หลากหลายและสะท้อนสถานการณ์ต่างๆ ได้ชัดเจนและลึกซึ้งมากขึ้น

ดร. Meredith Clark กล่าวถึงศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเดียวกันจากคณะวารสารศาสตร์และกราฟฟิกดีไซน์ มหาวิทยาลัย Florida A&M ที่ชื่อ Nolan D. McCaskill นักข่าวรุ่นใหม่ที่มีเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน

เขาเคยคิดว่า โอกาสฝึกงานที่หนังสือพิมพ์ที่ทำได้ เป็นเพียงสื่อท้องถิ่นในฟลอริด้า ในเขตใกล้บ้านที่เขาสามารถอยู่กับครอบครัวไม่ต้องเสียค่าเช่าห้อง ต่อมาคนหนุ่มไฟแรงผู้นี้ได้โอกาสฝึกงานที่หนังสือพิมพ์นอกรัฐฟลอริด้า ซึ่งก็คือ Raleigh News & Observer ที่รัฐนอร์ธแคโรไลน่า ในตอนที่ ดร. Clark เป็นบรรณาธิการ

แต่นักศึกษาผู้นี้เจออุปสรรคด้านการเงิน!

ค่าใช้จ่ายที่เป็นอาหารระดับปานกลางสำหรับผู้ชายวัยหนุ่มที่ทางการสหรัฐฯ ประเมินไว้อยู่ที่ 300 ดอลลาร์ต่อเดือน แน่นอนว่าถ้านักศึกษาไม่มีญาติอยู่ในเมืองดังกล่าว ต้องจ่ายค่าเช่าห้องเองด้วย และหากว่าการฝึกงานของเขาสามารถเปลี่ยนเป็นหน่วยกิต นักศึกษาอาจจะต้องเสียค่าหน่วยกิตเพิ่ม แทนที่งานจะเป็นแหล่งรายได้กลับนำมาซึ่งค่าใช้จ่าย

แต่สิ่งที่เปลี่ยนชีวิตนักข่าวของ Nolan D. McCaskill คือทุน 3,000 ดอลลาร์ จากมูลนิธิ Scripps Howard ก้าวสำคัญดังกล่าวช่วยเปิดประตูบานต่อไปให้เขา เมื่อเขาได้งานที่สื่อการเมืองที่กรุงวอชิงตัน

Politico ที่คอการเมืองสหรัฐฯจำนวนมากอ่านทุกวัน จ้าง Nolan จากงานเล็กๆ จนกลายมาเป็นงานหลักที่ยึดเขาเป็นอาชีพในปัจจุบัน

ดร. Meredith D. Clark ย้ำถึงเงิน 3,000 ดอลลาร์ที่ไม่มาก เช่นว่าอาจมาจากการระดมจากศิษย์เก่าไม่กี่คนก็น่าจะได้ แต่ว่าสามารถเป็นสะพานเชื่อมความยากลำบากทางเศรษฐกิจกับโอกาสสำหรับนักข่าวรุ่นใหม่ ที่เป็นตัวแทนประชากรกลุ่มน้อยของสังคมได้สำเร็จ

(บทความจาก Poynter.org / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)

XS
SM
MD
LG