ผู้เชี่ยวชาญถกเถียงประเด็นการบริโภคเนื้อแดงกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน

  • Rosanne Skirble
กระทรวงการเกษตรสหรัฐฯออกคำแนะนำเป็นครั้งแรกว่าชาวอเมริกันควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อเลือกอาหารรับประทาน

Your browser doesn’t support HTML5

Food Guidelines Environment

ทุกๆ ห้าปี กระทรวงการเกษตรแห่งสหรัฐจะเผยแพร่คำแนะนำด้านอาหารหรือ Dietary Guidelines แก่ชาวอเมริกันโดยตั้งอยู่บนข้อมูลความรู้ด้านโภชนาการ

คุณเจนเน็ท ริลลี่ แห่งสถาบัน North American Meat Institute กล่าวว่าข้อแนะนำนี้ส่งผลต่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน โครงการอาหารของรัฐบาลกลางสำหรับผู้สูงวัย ผู้หญิงและเด็ก กลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มประชากรที่ต้องการโปรตีน วิตามินและแร่ธาตุจากเนื้อแดงและเนื้อสัตว์ปีก

รายงานข้อแนะนำของคณะกรรมการที่ปรึกษาแห่งกระทรวงการเกษตรนี้หนา 571 หน้าและเปิดเผยแก่สาธารณชน หนึ่งในข้อแนะนำที่กลายเป็นประเด็นที่อื้อฉาวมากที่สุดประเด็นหนึ่งคือการชี้ว่าการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมีความเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม คุณริลลี่กล่าวว่าข้อสรุปนี้เกินหน้าที่ของคณะกรรมการที่ปรึกษา

เธอกล่าวว่าคณะกรรมการนี้ได้รับมอบหมายให้เน้นประเด็นโภชนาการ ตอนที่มีการตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมาดูเรื่องความยั่งยืน ทางสภาผู้แทนราษฏรได้ระบุชัดเจนในร่างกฏหมายงบประมาณว่าให้จำกัดขอบเขตอยู่ที่โภชนาการ ห้ามแตะเรื่องสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม คุณ เจนเน็ท ลาร์เซนผู้อำนวยการด้านวิจัยแห่งสถาบัน Earth Policy Institute ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าข้อสรุปที่เกินขอบเขตนี้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนและโลก

คุณลาร์เซนกล่าวว่าการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคเนื้อสร้างผลเสียต่อสิ่งเวดล้อมอย่างมาก เป็นสาเหตุหนึ่งของแก๊สเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน ดังนั้นหากคุณกังวลกับปัญหาภาวะโลกร้อน ก็ต้องรับประทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลงเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกลง

เธอกล่าวว่านอกจากนี้ การปศุสัตว์ยังจำเป็นต้องใช้ที่ดินผืนใหญ่ อาหารและน้ำในปริมาณมาก ในขณะที่ความต้องการรับประทานเนื้อแดงในสหรัฐเริ่มลดลง แต่ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ในประเทศกำลังพัฒนากำลังเพิ่มขึ้น คุณลาร์เซนกล่าวว่าประเทศจีนถือว่าเป็นประเทศที่คนบริโภคเนื้อแดงมากที่สุดใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนี้

เธอกล่าวว่านอกจากจีนจะเพิ่มปริมาณเนื้อแดงที่นำเข้าแล้ว จีนยังขยายการผลิตเนื้อแดงภายในประเทศมากขึ้นด้วย นี่จะทำให้จีนต้องนำเข้าธัญพืชและถั่วเหลืองมากขึ้นจากตลาดโลกเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ซึ่งจะส่งผลต่อราคาอาหารทั่วโลกและจะทำให้มีคนอดอยากมากขึ้นเพราะราคาอาหารจะแพงขึ้น

แต่คุณเจนเน็ท ริลลี่ แห่งสถาบัน Meat Institute กล่าวว่าเธอไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มข้อแนะนำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเข้าไปในข้อแนะนำเกี่ยวกับอาหารเพราะเป็นการส่งข้อความที่ผิดพลาดเกี่ยวกับอาหารแก่ประชาชน

เธอกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าข้อแนะนำว่าการรับประทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลงจะมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ควรมีข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติม จำเป็นต้องมีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อศึกษาเรื่องนี้ก่อนจะมีข้อแนะนำที่ชัดเจน เธอกล่าวว่าไม่เหมาะสมที่นักโภชนาการพยายามจะแสดงข้อแนะนำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพราะไม่ใช่สาขาที่ตนเองเชี่ยวชาญ

ข้อแนะนำดังกล่าวนี้มีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาโรคอ้วนและโรคเรื้อรังด้วยการรับประทานอาหารที่มีปริมาณผักสูงและมีเนื้อสัตว์น้อยลง คุณลาร์เซนหวังว่าข้อแนะนำด้านอาหารนี้จะช่วยส่งเสริมอุปนิสัยการกินที่ดีแก่คนทั่วไปไม่เฉพาะแก่ชาวสหรัฐเท่านั้น

คุณลาร์เซนกล่าวส่งท้ายว่าต่างชาติไม่ควรนำเข้านิสัยการรับประทานอาหารแบบชาวอเมริกันที่นิยมเนื้อสัตว์ แต่ควรเอาอย่างความคิดที่ส่งเสริมสุขภาพและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและรับประทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง