พลังฮุบเหยื่อของปลาเกิดขึ้นจากการทำงานของกล้ามเนื้อหลายส่วนของร่างกายร่วมกัน

  • Rosanne Skirble

Fish Power Eaters

การค้นพบนี้ช่วยทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจวิวัฒนาการของสัตว์จำพวกนี้กว่า 30,000 สายพันธุ์ย่อยมากขึ้น

Your browser doesn’t support HTML5

พลังฮุบเหยื่อของปลาเกิดจากอะไร?

นักวิทยาศาสตร์สังเกตการกินเหยื่อของปลา เช่นปลากระพง ที่สามารถฮุบปลาทองด้วยการเข้าตะครุบด้วยปากอย่างง่ายดาย อาจารย์ Thomas Roberts และคณะจากมหาวิทยาลัย Brown ของสหรัฐศึกษาการเคลื่อนไหวของร่างกายปลาด้วยเทคโนโลยีพิเศษ

เขาบอกว่าอุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลสามารถบันทึกภาพเคลื่อนไหวแบบเอ็กซ์เรย์ พร้อมด้วยเครื่องมือวัดขนาดกระดูกที่เป็นส่วนประกอบของกระโหลกปลา และยังสามารถวัดพลังของแรงดูดที่ทำให้เหยื่อผลุบเข้าปากปลาได้ด้วย

นักวิทยาศาสตร์พบว่ากล้ามเนื้อของหัวปลาไม่มีพลังพอที่จะสร้างแรงดูดที่รุนแรงได้ อาจารย์ Roberts กล่าวว่า กล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ของร่างกายร่วมทำงานด้วย ในการจับเหยื่อด้วยการสร้างแรงดูดมหาศาล ขณะที่ปลาใช้กล้ามเนื้อเหล่านั้นในการว่ายน้ำด้วย

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมุติฐานในลักษณะนี้แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันจนกระทั่งอาจารย์ Roberts และคณะวิจัยลงมือศึกษาเรื่องนี้

เขากล่าวว่าปลาอาศัยจุดเชื่อมของกระดูกของกระโหลกช่วยประสานการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆในร่างกาย เพื่อสร้างแรงจับเหยื่อเข้าปากที่รวดเร็วและรุนแรง

งานวิจัยนี้ ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Proceedings of the National Academy of Sciences สามารถนำไปอธิบายการจับเหยื่อของปลาและสัตว์น้ำที่มีกระดูกสันหลังในทะเลได้ เพื่อที่นักวิทยาศาสตร์จะได้เข้าใจธรรมชาติและวิวัฒนาการของสัตว์จำพวกนี้กว่า 30,000 สายพันธุ์ย่อยมากขึ้น

รายงานโดย Rosanne Skirble เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท

Your browser doesn’t support HTML5

งานศึกษาพบว่าปลาใช้ทุกส่วนของร่างกายเวลาฮุบเหยื่อ