อาจารย์ Margaret Crofoot อาจารย์สาขาวิชาคนและลิงใหญ่ หรือ Primatology ที่มหาวิทยาลัย California วิทยาเขต Davis และหัวหน้าทีมนักวิจัยในเรื่องนี้ อธิบายว่า ทำไมเธอจึงเห็นว่าลิงบาบูนฝูงนี้มีความเป็นประชาธิปไตย
นักวิชาการผู้นี้บอกว่า ลิงฝูงนี้มีบุคลิกหลากหลาย เพราะฉะนั้นเมื่อเธอเห็นลิงทั้งฝูงเคลื่อนย้ายที่อยู่ในลักษณะที่แสดงการตัดสินใจร่วมกัน จึงอยากจะรู้ว่ากระบวนการตัดสินใจของลิงฝูงนี้เป็นไปได้อย่างไร
อาจารย์ Margaret และทีมงานสวมปลอกคอซึ่งมี GPS ให้ลิง 25 ตัวในฝูง อุปกรณ์ที่ว่านี้บันทึกตำแหน่งที่ของลิงที่สวมปลอกคอทุกวินาทีเป็นเวลาสองสัปดาห์ และสร้างจุดข้อมูลการเคลื่อนไหวของลิงให้ถึงสองล้านจุดนักวิจัยอาศัยจุดข้อมูลที่ได้เป็นจุดอ้างอิงวัดระยะความห่างระหว่างลิงสองตัว และอาศัยการเปลี่ยนแปลงของระยะความห่างตีความการเคลื่อนไหวของลิงบาบูนฝูงนี
อาจารย์ Margaret บอกว่า ทีมงานประหลาดใจที่การเคลื่อนไหวของลิงฝูงนี้ ไม่เป็นไปตามที่หัวหน้าฝูง หรือลิงตัวผู้ที่ทรงอิทธิพลบงการเสมอไป
นักวิจัยผู้นี้บอกว่า แทนการทำตามคำสั่งของหัวหน้าฝูง ลิงแต่ละตัวตกลงใจว่าจะเคลื่อนไหวไปทางไหน โดยสังเกตดูรอบๆ ตัวว่าคนอื่นๆ กำลังทำอะไรกันบ้าง ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ง่ายๆ และชี้ให้เห็นว่า ลิงแต่ละตัวมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
อาจารย์ Margaret ตื่นเต้นกับพฤติกรรมที่ว่านี้ เพราะลิงไม่เหมือนกับฝูงนกหรือปลาที่เคลื่อนไหวไปด้วยกันเป็นปกติวิสัย ลิงบาบูนมีสัตว์ที่ตามล่าตนเป็นอาหาร หมายความว่าต้องคอยระแวดระวังภัยในขณะที่แสวงหาอาหารและร่วมการเดินทางเคลื่อนย้ายด้วย
อาจารย์ Julia Parrish แห่งมหาวิทยาลัย Washington ซึ่งศึกษาพฤติกรรมการเคลื่อนย้ายของปลา ให้ความเห็นว่า ผลการศึกษาลิงบาบูนฝูงนี้ บ่งชี้ว่าการทำตามกฎเกณฑ์ง่ายๆ ของลิงฝูงนี้มีความสำคัญมากต่อการอยู่รอด
อาจารย์ Margaret Crofoot บอกด้วยว่า เมื่อบาบูนฝูงนี้ ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะมุ่งหน้าไปทางไหน ก็ต้องหยุดการเคลื่อนไหวเพื่อใคร่ครวญปัญหา นับเป็นการเสียเวลาอันมีค่าสำหรับการสังสรรค์ การหาอาหาร และการเสริมสวย
ฟังดูแล้วรู้สึกว่าไม่แตกต่างไปจากพฤติกรรมของมนุษย์เรากับฝูงเพื่อนเลย