ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (Federal Reserve) ยังคงพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ต่อไป ด้วยการประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในวันพุธ แม้ว่าจะมีความกังวลว่าการเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมเงินอาจยิ่งทำให้สถานการณ์ความวุ่นวายในภาคการธนาคารย่ำแย่ลงอีก
เฟดมีแถลงการณ์หลังการประชุมด้านนโยบายสิ้นสุดลงในวันพุธว่า "ระบบธนาคารสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งดี" แต่ก็เตือนว่า ความวุ่นวายทางการเงินที่เกิดจากการล้มลงของธนาคารขนาดใหญ่สองแห่งของสหรัฐฯ "น่าจะมีผลให้มีการคุมเข้มด้านเงินกู้" และ "ให้น้ำหนักกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงานและเงินเฟ้อ"
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณด้วยว่าอาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของมาตรการขึ้นดอกเบี้ยสูงต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อแล้ว โดยแถลงการณ์ของเฟดชี้ว่าได้ปรับเปลี่ยนคำที่ใช้ในเรื่องนโยบายดอกเบี้ย จากที่บอกว่า "จะขึ้นอย่างต่อเนื่องในการประชุมครั้งต่อไป" เป็นการปรับใช้นโยบายตามความเหมาะสม
เฟดยังคาดการณ์ด้วยว่า อาจมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียงหนึ่งครั้งจากระดับ 4.9% ในวันพุธ เป็น 5.1% ภายในปีนี้ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี อย่างไรก็ตาม เฟดระบุว่าการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังอยู่อีกไกลกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ และ "อัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้น"
เจอโรม พาวเวลล์ ประธานผู้ว่าการระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในวันพุธว่า "กระบวนการนำเงินเฟ้อให้กลับลงมาอยู่ที่ระดับ 2% ยังคงอยู่อีกไกลและอาจมีเส้นทางที่ขรุขระ"
ทั้งนี้ การส่งสัญญาณของเฟดว่ามาตรการขึ้นดอกเบี้ยอาจสิ้นสุดลงเร็ว ๆ นี้ อาจช่วยผ่อนเพลาผลกระทบของความวุ่นวายในภาคการธนาคารของสหรัฐฯ และการเข้าซื้อกิจการธนาคารเครดิตสวิสในสวิตเซอร์แลนด์โดยคู่แข่งคือ ธนาคารยูบีเอส ลงได้บ้าง
เมื่อต้นเดือนนี้ พาวเวลล์กล่าวต่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐฯ ว่า เฟดกำลังพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.5% ในเดือนมีนาคม หลังจากที่ตัวเลขการจ้างงานและการใช้จ่ายของผู้บริโภคออกมาดีกว่าที่คาดไว้ แต่หลังจากที่เกิดปัญหาในภาคการธนาคารเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้เฟดเปลี่ยนใจขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25%
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนเตือนว่า แม้เฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ในระดับไม่สูงมาก แต่เมื่อรวมกับการขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งที่ผ่านมาก็อาจทำให้ธนาคารต่าง ๆ มีต้นทุนการกู้ยืมเงินที่สูงขึ้นจนประสบปัญหาเช่นเดียวกันธนาคารซิลิคอนแวลลีย์ และธนาคารซิกเนเจอร์ได้
นักเศรษฐศาสตร์เตือนด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนี้อาจทำให้ธนาคารขนาดกลางและขนาดย่อมต้องใช้มาตรการเก็บรักษาเงินสดสำรองและปล่อยกู้น้อยลง ซึ่งหมายความว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจต่าง ๆ ก็อาจจะลดน้อยลงไปด้วย และนั่นอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
บรรดานักวิเคราะห์ในวอลสตรีทเชื่อว่า เศรษฐกิจที่อ่อนแอลงอาจส่งผลให้เฟดเริ่มลดดอกเบี้ยลงในช่วงฤดูร้อนปีนี้ได้เช่นกัน
- ที่มา: เอพี