ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในวันพุธ นับเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 7 ในปีนี้ พร้อมเผยเตรียมขึ้นดอกเบี้ยต่อไปในปีหน้า ในช่วงที่ทิศทางเงินเฟ้ออเมริกาเริ่มส่งสัญญาณชะลอความร้อนแรงลง ตามรายงานของเอพี
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของระบบธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ที่ 4.25%-4.5% ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี แม้จะเป็นขนาดการขึ้นดอกเบี้ยที่น้อยกว่าครั้งก่อน ๆ แต่มาตรการของเฟดจะส่งผลต่อต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจและประชาชน รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย
การปรับขึ้นดอกเบี้ยของระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ มีขึ้นหนึ่งวันหลังจากมีข้อมูลภาวะเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายนที่ลดความร้อนแรงลงต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าน้อยกว่าระดับสูงสุดที่ 9.1% เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
แม้จะเห็นทิศทางเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลง แต่เฟดแสดงความชัดเจนว่ายังไม่ถึงเวลาประกาศชัยชนะเหนือเงินเฟ้อในตอนนี้ โดยเจอโรม พาวเวลล์ ประธานระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวในวันพุธว่า “ข้อมูลเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนแสดงให้เห็นการลดลงที่น่ายินดี แต่จะต้องมีหลักฐานเพิ่มเติมในการให้ความเชื่อมั่นว่าเงินเฟ้ออยู่ในทิศทางขาลงอย่างยั่งยืน”
SEE ALSO: เงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน พ.ย. ลดความร้อนแรงต่อเนื่องที่น่าสนใจคือเฟดระบุว่าได้เตรียมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกราว 0.75% ภายในปลายปีหน้า ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 5%-5.25% ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์กันว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งที่ระดับ 0.5% เท่านั้น
ในภาพเศรษฐกิจอเมริกันโดยรวม เฟดยังประเมินว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างชะลอลง โดยจะขยายตัวเพียง 0.5% ในปีหน้าเท่านั้น และอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นในปีหน้าและปี 2024 โดยคาดว่าอัตราว่างงานจะกระโดดจาก 3.7% ไปที่ระดับ 4.6% ภายในสิ้นปีหน้า ซึ่งอาจสะท้อนภาพของภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ได้
ส่วนทิศทางเงินเฟ้อในยุโรปและอังกฤษ มีแนวโน้มลดความร้อนแรงลงเช่นกัน ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB และธนาคารกลางอังกฤษ จะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในวันพฤหัสบดีนี้ โดยคาดว่าทั้ง ECB และแบงค์ชาติอังกฤษจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่พุ่งสูง
- ที่มา: เอพี