นักวิเคราะห์เศรษฐกิจจำนวนหนึ่งมองกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งจบลงเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสเเรกของปี
ในทางทฤษฎีที่เป็นมาตรฐานหนึ่งการประเมินเศรษฐกิจ การลดลงของจีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เป็นเวลาสองไตรมาสติดต่อกัน หมายถึง การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์ออกรายงานเชิงวิเคราะห์ที่ระบุว่า กฎมุมมองดังกล่าวเป็นมาตรฐานกว้าง ๆ เท่านั้น และเกณฑ์ที่ละเอียดกว่าจะคำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เฉพาะ เช่น อัตราว่างงาน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และรายได้ของประชาชน เป็นต้น
หากพิจารณาด้วยปัจจัยเฉพาะเหล่านี้ การที่จีดีพีลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกันอาจมิได้หมายความว่า ประเทศเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
หรือในทางกลับกัน จีดีพีอาจไม่จำเป็นต้องหดตัวสองไตรมาสต่อเนื่อง ก็อาจเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้
ตัวอย่างเช่น เมื่อตอนปี ค.ศ. 2020 ขณะเกิดการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจอเมริกันอยู่ในช่วงถดถอยเป็นเวลา 2 เดือนระหว่างมีนาคมถึงเมษายน โดยในช่วงสองเดือนดังกล่าว กิจกรรมทางเศรษฐกิจตกฮวบลง และทำให้จีดีพีในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีนั้นหดตัวลง
เมื่อเกณฑ์การมองภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจมีความเเตกต่างกันในหมู่นักวิเคราะห์ ใครคือผู้ตัดสินว่า เศรษฐกิจอเมริกันอยู่ในภาวะถดถอยหรือไม่?
รอยเตอร์ระบุว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้อย่างเป็นทางการคือ สำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ National Bureau of Economic Research (NBER) ซึ่งการประกาศว่า อเมริกาได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วหรือไม่ของสถาบันนี้ อาจจะต้องรอหลังเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงนับปี
สำนักวิจัย NBER ที่ว่านี้ ซึ่งเป็นองค์กรไม่เเสวงหาผลกำไร ให้คำจำกัดความว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นเมื่อ "เกิดการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งแผ่ขยายไปสู่ภาคเศรษฐกิจและกินเวลายาวนานกว่า 2-3 เดือน"
NBER จะวิเคราะห์ปัจจัยจากภาคเเรงงาน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมรายเดือน ซึ่งละเอียดกว่ารายไตรมาส นอกจากนั้น ยังพิจรณาความรุนแรง การเเผ่ขยายและระยะเวลาของภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกด้วย
คำถามต่อมาคือ ตอนนี้เศรษฐกิจอเมริกันเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่?
รอยเตอร์รายงานว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะยังคงมีการจ้างงานในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น แม้จะจ้างงานเพิ่มในอัตราที่ช้าลง แต่ถ้าจะเข้าเกณฑ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอย การจ้างงานต้องติดลบ ซึ่งหมายถึง การกลับลำอย่างชัดเจนของตลาดเเรงงานสหรัฐฯจากปัจจุบัน
นอกจากนั้น ขณะนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของอเมริกาอยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างน้อยจนถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
รอยเตอร์ระบุว่า นอกจากวิธีพิจารณาของ NBER ยังมีอีกมาตรฐานการวิเคราะห์หนึ่งที่เรียกว่า "เเซห์ม" ซึ่งตั้งชื่อตาม คลอเดีย เเซห์ม นักเศรษฐศาสตร์ของระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ
เกณฑ์ดังกล่าวพิจารณาอัตราคนว่างงานเฉลี่ยสามเดือน ณ วันสุดท้ายของเเต่ละเดือน หากว่า อัตราคนว่างงานเพิ่มขึ้น 0.5% จากจุดต่ำสุดในรอบ 12 เดือนก่อนหน้านั้น จะถือว่า เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย
หากมองตามเเนวทางนี้ เศรษฐกิจอเมริกันยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะอัตราคนว่างงานปัจจุบันที่ระดับต่ำกว่า 4% ถือว่า ทรงตัวหรือดีกว่าในช่วงต้นปี
รอยเตอร์รายงานว่า โดยทั่วไป นักวิเคราะห์คิดว่า หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นจริงในอเมริกา จะเป็นการถดถอยในระดับที่ไม่รุนเเรง
สิ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ คือ การตัดสินใจของภาคเอกชนและนักลงทุน รวมถึงผู้บริโภค เมื่อพวกเขาได้ยินคำว่า "ภาวะถดถอย" เพราะการขาดความมั่นใจทางเศรษฐกิจอาจทำให้คนเหล่านี้เทขายหุ้น ชะลอการลงทุน เลิกจ้างงาน หรือลดการใช้จ่าย
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ โรเบิร์ต ชิลเลอร์ ซึ่งคาดการณ์ในเดือนมิถุนายนว่า มีโอกาสที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย กล่าวกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า ภาวะถดถอยครั้งนี้อาจเป็นผลมาจาก ความกังวลที่มีผลต่อพฤติกรรม และทำให้ความกังวลนั้นกลายมาเป็นเรื่องจริง หรือ "self-fulfilling prophecy"
- ที่มา: รอยเตอร์