ขณะที่ ความพยายามจากทั่วโลกในการจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกยังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายต้องการผลักดันให้สัมฤทธิ์ผล ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งเปิดเผยผลการศึกษาและประเมินประสิทธิภาพของข้อตกลงที่มีองค์การสหประชาชาติเป็นผู้ประสานงานซึ่งชี้ว่า โอกาสของความสำเร็จดังหวังนั้นน้อยกว่าที่ทุกฝ่ายต้องการ
รายงานที่จัดทำร่วมกัน โดยสถาบันคลังสมอง Economist Impact และมูลนิธิ Nippon Foundation ชี้ว่า แม้จะดำเนินการตามมาตรการข้อตกลงของสหประชาชาติ (UN) ที่ต้องการจะปฏิรูปวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด เพื่อที่จะยับยั้งวิกฤตขยะโลกอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว แต่ก็โลกก็ยังจะไม่สามารถป้องกันการผลิตและการใช้พลาสติกที่เพิ่มขึ้นได้อยู่ดี
ในปีที่แล้ว มี 175 ประเทศ ที่ตกลงเข้าร่วมการจัดทำข้อตกลงสนธิสัญญากับสหประชาชาติ เพื่อยุติมลพิษจากพลาสติก ซึ่งอาจมีผลบังคับใช้อย่างเร็วที่สุด ในช่วงปลายปี 2024
แผนงานหลักของสนธิสัญญานี้ มีอาทิ การห้ามทั่วโลกใช้พลาสติกประเภทครั้งเดียวแล้วทิ้ง การดำเนินโครงการ "ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย" และภาษีสำหรับการผลิตพลาสติกใหม่
แต่ในทัศนะของผู้เขียนรายงานนี้ มีการชี้ว่า แม้นโยบายนั้นดูเหมือนจะทำได้จริง แต่ข้อตกลงนี้ก็อาจจะไม่เข้มแข็งพอที่จะส่งผลทำให้การบริโภคพลาสติกลดน้อยลง
รายงานดังกล่าวระบุว่า แนวโน้มปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า การใช้พลาสติกในกลุ่มประเทศจี20 จะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากปี 2019 และภายในปี 2050 จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 451 ล้านตันในแต่ละปี
SEE ALSO: OECD เผย มีการรีไซเคิลพลาสติกทั่วโลกเพียง 9%
เมื่อมองย้อนกลับไปในปี 1950 ทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกเพียงสองล้านตันเท่านั้น
จิลเลียน ปาร์กเกอร์ ผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้ บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า “การค้นพบนี้แสดงให้เห็นถึงระดับของเป้าหมาย(ที่เราควรจะมุ่งไปสู่)และความเร่งด่วนที่จำเป็นสำหรับการเจรจาร่วมกัน”
นอกจากนี้ ในรายงานดังกล่าวยังได้ทำการวิเคราะห์นโยบายทั้ง 3 แนวทางภายใต้การหารือของยูเอ็น ที่ครอบคลุมวัฏจักรชีวิตทั้งหมดของผลิตภัณฑ์พลาสติก ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการกำจัด อย่างเช่น นโยบายการห้ามทั่วโลกใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งจะรวมถึง ซองพลาสติก สำลีก้านเช็ดหู และก้านเสียบลูกโป่ง โดยเชื่อว่า จะทำให้การเติบโตของการบริโภคพลาสติกลดลง เพียงร้อยละ 14 ภายในปี 2050
ส่วนนโยบายที่เรียกว่าเป็นแผนความรับผิดชอบเพิ่มเติมของผู้ผลิตพลาสติก ซึ่งจะไปเพิ่มความรับผิดชอบให้กับภาคอุตสาหกรรมนั้น รายงานนี้มองว่า แทบจะไม่มีผลกระทบต่อตัวเลขคาดการณ์การใช้พลาสติกที่เพิ่มขึ้น ที่อาจจะลดจาก 451 ล้านตันเป็น 433 ล้านตันเท่านั้น
นอกจากนี้ นโยบายเรียกเก็บภาษีอัตราสูงจากเม็ดพลาสติกบริสุทธิ์ที่เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตพลาสติก จะช่วยลดตัวเลขคาดการณ์การใช้พลาสติกเพียงร้อยละ 10 ภายในปี 2050 ตามการประเมินของผู้ร่วมเขียนรายงานนี้
และถึงแม้ว่าจะใช้ทั้ง 3 นโยบายร่วมกัน การเติบโตของการบริโภคพลาสติก ก็ยังคงจะเพิ่มขึ้นอีกราว 1 ใน 4 อยู่ดี
ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการที่ดูเหมือนจะไม่เข้มแข็งมากเหล่านี้ยังน่าจะต้องเผชิญกระแสต่อต้านที่รุนแรง ทั้งจากผู้ผลิต ผู้ค้าปลีก องค์กรอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้บริโภค ที่มีทั้งคนที่ต่อต้านนโยบายข้างต้นบางส่วนหรือก็ต่อต้านทั้งหมด
ปาร์กเกอร์ ผู้ร่วมเขียนรายงาน ระบุว่า ขณะที่ฝ่ายผู้ผลิตพลาสติกไม่ค่อยตื่นตัวในเรื่องลดการผลิต กลุ่มอุตสาหกรรมก็มองว่านโยบายภาษีจะไม่มีประสิทธิผลเท่าใด
SEE ALSO: "ขยะพลาสติก" ปริมาณมหาศาลในมหาสมุทร ส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์น้ำและมนุษย์
ในส่วนของการรีไซเคิลนั้น ปาร์กเกอร์กล่าวว่า คล้ายกับสถานการณ์ “วัวหายแล้วล้อมคอก” และเธอแนะนำว่า การเข้าไปควบคุมตั้งแต่กระบวนการผลิตต้นน้ำจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการเข้าไปดำเนินการช่วงปลายน้ำ
นอกจากที่กล่าวมาข้างตั้น ยังมีการพบว่า หลายประเทศขาดโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการกับปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น และการผลิตเม็ดพลาสติกบริสุทธิ์ยังมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการรีไซเคิลพลาสติกด้วย
ถึงกระนั้น ปาร์กเกอร์และทีมงานผู้จัดทำรายงานนี้ยังมองโลกแง่ดีและเห็นว่า “ปัญหานี้จัดการได้” โดยเชื่อว่า หากมีความร่วมมือ การบังคับใช้นโยบาย อีกทั้งแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติกอย่างได้ผล
- ที่มา: เอเอฟพี