งานวิจัยชิ้นใหม่ ชี้ว่า การที่ตัวแทนจำหน่ายยาพาแพทย์ไปเลี้ยงอาหารอาจจะเป็นเหตุที่ทำให้ค่ายาที่ผู้ป่วยไม่สามารถเบิกจากการประกันสุขภาพสูงขึ้น
นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัย California วิทยาเขต San Francisco หรือ UCSF ตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร ของสมาคมการแพทย์อเมริกาทางด้านอายุรศาสตร์ ซึ่งระบุว่าการตลาดแนวนี้ มักทำให้แพทย์เลือกที่จะสั่งจ่ายยามียี่ห้อที่ราคาแพง ซึ่งยาเหล่านี้ ไม่สามารถเบิกกับบริษัทประกันสุขภาพได้เสมอไป แทนที่แพทย์จะสั่งยาชื่อสามัญที่พ้นสิทธิบัตรแล้วซึ่งถูกกว่า
นอกจากนี้ยังพบว่า เพียงการเลี้ยงอาหารหนึ่งมื้อในราคาไม่ถึง 20 ดอลล่าร์ ก็อาจทำให้มีโอกาสเพิ่มขึ้นสองเท่าที่แพทย์จะเลือกสั่งจ่ายยามียี่ห้อที่แพง เมื่อเทียบกับหมอที่ไม่ได้รับเลี้ยงอาหาร
และหมอที่ตัวแทนจำหน่ายยาซื้ออาหารให้หลายมื้อ มีโอกาสเลือกสั่งจ่ายยาราคาแพง มากถึง 3 เท่า
Adams Dudley นักวิทยาศาสตร์ในการวิจัยนี้ และ ผู้อำนวยการศูนย์ Healthcare Value ที่สถาบันการศึกษานโยบายทางด้านสุขภาพอนามัย Philip R. Lee ที่ UCSF กล่าวว่า “ไม่ว่าจะเป็นการออกไปทานอาหารอย่างเป็นทางการ หรือการกินข้าวเที่ยงที่ทำงานของหมอ โอกาสเหล่านี้เปิดช่องให้ตัวแทนจำหน่ายยาได้พูดคุยกับแพทย์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของตน และการจ่ายค่าอาหารให้หมอ อาจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจสั่งจ่ายยาของหมอ”
งานวิจัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า คนที่ได้รับยาที่มีราคาไม่แพง มักจะใช้ยาดังกล่าวในระยะที่ยาวนานกว่าการได้รับยามียี่ห้อที่ราคาสูง
Colette DeJong นักศึกษาแพทย์ UCSF ที่มีความเกี่ยวข้องในงานวิจัยกล่าวว่า “ผู้สูงอายุในโครงการ Medicare เป็นกลุ่มคนที่มีผลกระทบหนักสุด เพราะพวกเขา ต้องจ่ายค่ายาเดือนละ 40-80 ดอลล่าร์สำหรับยามียี่ห้อ เมื่อเทียบกับการจ่ายเพียงเดือนละ 1 ดอลล่าร์สำหรับยาพ้นสิทธิบัตร”
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยในอดีตที่พบว่า แพทย์ที่ได้รับเงินจากบริษัทจำหน่ายยาผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การปราศัยในที่สาธารณะ มักจะออกใบสั่งยาสำหรับยาที่แพงกว่าด้วยเช่นกัน