สหรัฐฯ จับตาใกล้ชิด กรณีรัสเซียได้จัดตั้งโครงการอาวุธในจีน เพื่อพัฒนาและผลิตโดรนโจมตีพิสัยไกล สำหรับการใช้ในสงครามกับยูเครน ซึ่งมีศักยภาพทัดเทียมโดรนรีปเปอร์ของกองทัพสหรัฐฯ
รอยเตอร์รายงานโดยอ้างข้อมูลเอกสารและแหล่งข่าว 2 รายจากหน่วยข่าวกรองยุโรป พบว่า บริษัท IEMZ Kupol ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Almaz-Antey ซึ่งเป็นบริษัทอาวุธของรัฐบาลรัสเซีย ได้พัฒนาและทดสอบการบินโดรนรุ่นใหม่ ในชื่อ Garpiya-3 หรือ G3 ในประเทศจีน ด้วยความช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นในแดนมังกร
เนื้อหาในเอกสารหนึ่งในหลายฉบับที่รอยเตอร์ได้รับมา ซึ่งเป็นรายงานที่ IEMZ Kupol ได้ส่งให้กระทรวงกลาโหมรัสเซียเมื่อต้นปีเกี่ยวกับโครงการนี้ ระบุว่า บริษัทสามารถผลิตโดรนรุ่นต่าง ๆ รวมทั้งรุ่น G3 ที่โรงงานในจีน เพื่อที่อาวุธเหล่านี้จะได้นำไปใช้ใน “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” ในยูเครน ซึ่งเป็นคำที่รัสเซียใช้เรียกสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านที่ดำเนินมากกว่า 2 ปีนี้
ในรายงานของบริษัท IEMZ Kupol ที่ส่งให้กระทรวงกลาโหมรัสเซีย ระบุว่า โดรน G3 สามารถเดินทางได้ราว 2,000 กิโลเมตร และรองรับน้ำหนักได้ 50 กิโลกรัม มีการจัดส่งตัวอย่างของโดรนชนิดนี้พร้อมกับโดรนรุ่นอื่น ๆ ที่ผลิตในจีน เพื่อการทดสอบเพิ่มเติม โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของจีนเกี่ยวข้องด้วย
ส่วนเอกสารอีก 2 ฉบับ จากทั้งหมด 5 ฉบับที่รอยเตอร์ได้รับมา เป็นใบแจ้งหนี้ที่ส่งให้กับบริษัท IEMZ Kupol ในช่วงฤดูร้อนปีนี้โดยบริษัทรัสเซีย ซึ่งแหล่งข่าวจากหน่วยข่าวกรองยุโรป 2 รายระบุว่าใช้เป็นตัวกลางกับซัพพลายเออร์ของจีน สำหรับการจัดส่งโดรนการทหาร 7 ลำที่ผลิตในจีน รวมทั้งโดรน G3 จำนวน 2 ลำ ที่ศูนย์บัญชาการในเมืองอิซเฮฟสก์ ของรัสเซีย หนึ่งในใบแจ้งหนี้ระบุให้ชำระเป็นเงินหยวนของจีน แต่ไม่ได้ระบุวันหรือซัพพลายเออร์ของจีนแต่อย่างใด
Your browser doesn’t support HTML5
แหล่งข่าวจากหน่วยข่าวกรองยุโรปทั้ง 2 ราย ระบุว่าการจัดส่งตัวอย่างโดรนให้กับบริษัท IEMZ Kupol ถือเป็นหลักฐานที่ชัดเจนชิ้นแรกที่หน่วยข่าวกรองยุโรปพบว่ามีการผลิตโดรนในจีนที่ส่งให้รัสเซีย นับตั้งแต่สงครามยูเครนเริ่มต้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022
ทั้งนี้ ทางบริษัท IEMZ Kupol บริษัท Almaz-Antey และกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ไม่ได้ตอบกลับคำขอความเห็นจากรอยเตอร์สำหรับรายงานชิ้นนี้ ขณะที่กระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวกับรอยเตอร์ว่าไม่ทราบเกี่ยวกับโครงการที่ว่านี้ และเสริมว่าจีนมีมาตรการควบคุมการส่งออกโดรน หรืออากาศยานไร้คนขับที่เข้มงวด
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และรัฐบาลยูเครน ไม่ได้ตอบกลับความเห็นของรอยเตอร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ แสดงความกังวลเมื่อสัปดาห์ก่อนเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาระบุว่าเป็นการสนับสนุนของจีนต่อการผลิตอาวุธก่อสงครามของรัสเซีย แต่ปฏิเสธที่ลงรายละเอียดในเรื่องนี้
SEE ALSO: จีน-รัสเซีย เตรียมซ้อมรบร่วมครั้งใหญ่ ท้าทายพันธมิตรสหรัฐฯ ในอินโด-แปซิฟิกในวันพุธ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว ออกมาแสดงความกังวลใจอย่างยิ่งต่อรายงานเรื่องโครงการโดรนลับของรัสเซียในจีน ที่ดูเหมือนจะเป็นตัวอย่างของบริษัทจีนที่จัดหาความช่วยเหลือด้านอาวุธร้ายแรงให้กับบริษัทรัสเซียที่สหรัฐฯ ออกมาตรการลงโทษ
อย่างไรก็ตาม ทางโฆษกทำเนียบขาว ระบุว่า สหรัฐฯ ยังไม่พบสิ่งที่ชี้ว่ารัฐบาลจีนจะรับทราบเกี่ยวกับธุรกรรมที่เกิดขึ้นนี้ แต่จีนมีความรับผิดชอบในการทำให้แน่ใจว่าบริษัทของจีนทั้งหลายจะไม่จัดหาความช่วยเหลือด้านอาวุธร้ายแรงให้แก่รัสเซียเพื่อใช้ในกองทัพ และสหรัฐฯ เตรียมการที่จะใช้มาตรการลงโทษต่อบริษัทจีนที่ระบุในรายงานของรอยเตอร์ รวมทั้งสถาบันการเงินที่สนับสนุนธุรกรรมดังกล่าวกับบริษัทรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรโดยทันที พร้อมทั้งจะทำงานร่วมกับหน่วยงานของยุโรปในขั้นตอนต่อไป
ฟาเบียน ฮินซ์ นักวิจัยแห่ง International Institute for Strategic Studies สถาบันคลังสมองด้านกลาโหมในกรุงลอนดอน บอกกับรอยเตอร์ว่า หากได้รับการยืนยันว่ามีการจัดส่งอากาศยานไร้คนขับจากจีนไปรัสเซียจริง จะถือเป็นพัฒนาการในสงครามอย่างมีนัยสำคัญ
ฮินซ์ เสริมว่า “หากพิจารณาถึงสิ่งที่จีนส่งไปให้[รัสเซีย]ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้ได้ทั้งการทหารและพลเรือน อีกทั้งยังเป็นส่วนประกอบหลัก ส่วนประกอบย่อย ที่สามารถใช้ในระบบอาวุธต่าง ๆ ได้” และว่า “นั่นคือสิ่งที่อยู่ในรายงานขณะนี้ แต่สิ่งที่เรายังไม่เคยเห็น อย่างน้อยคือในข้อมูลแบบโอเพ่นซอร์สในการถ่ายโอนข้อมูลระบบอาวุธทั้งหมด”
อย่างไรก็ตาม ซามูเอล เบนเดตต์ นักวิชาการอาวุโส จาก Center for a New American Security (CNAS) สถาบันคลังสมองในกรุงวอชิงตัน บอกกับรอยเตอร์ว่า รัฐบาลปักกิ่งอาจลังเลที่จะรับแรงกดดันจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากนานาประเทศ ในการช่วยเหลือรัสเซียก่อสงคราม และยังต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่านี้ในการระบุว่าจีนกำลังรับบทเป็นแหล่งผลิตโดรนการทหารของรัสเซีย
Your browser doesn’t support HTML5
สองมาตรฐานด้านค้าอาวุธ
ที่ผ่านมา จีนปฏิเสธมาตลอดว่ารัฐบาลปักกิ่งและบริษัทจีนสนับสนุนอาวุธให้รัสเซียใช้ในสงครามยูเครน และว่าจีนมีสถานะเป็นกลางในความขัดแย้งนี้ และในการตอบคำถามเกี่ยวกับบทความชิ้นนี้ของรอยเตอร์ กระทรวงต่างประเทศจีน ระบุว่า จุดยืนของจีนตรงข้ามกับประเทศอื่น ๆ ที่มี “สองมาตรฐานด้านการค้าอาวุธ” ที่จีนเรียกว่าเป็นผู้ “เติมเชื้อไฟในวิกฤตยูเครน”
เมื่อต้นเดือนกันยายน กระทรวงต่างประเทศจีน ระบุว่าไม่มีมาตรการระหว่างประเทศในการจำกัดการค้ากับรัสเซีย ในการชี้แจงตอบโต้รายงานของรอยเตอร์ที่ว่าบริษัท IEMZ Kupol เริ่มผลิตโดรนพิสัยไกลด้านการทหาร Garpiya-A1 ในรัสเซีย โดยใช้เครื่องยนต์และชิ้นส่วนจากจีน
ส่วนเอกสารใหม่ที่รอยเตอร์นำมารายงานล่าสุดนี้ ชี้ให้เห็นว่าบริษัท IEMZ Kupol ของรัฐบาลรัสเซียได้ก้าวข้ามไปไกลกว่าเดิมด้วยการจัดหาโดรนทั้งลำที่ผลิตจากจีน
เดวิด ออลไบรท์ ประธานของ Institute for Science and International Security ในกรุงวอชิงตัน ที่เชี่ยวชาญด้านความร่วมมือระหว่างรัสเซียและจีนในการผลิตโดรน บอกกับรอยเตอร์ว่า บริษัท IEMZ Kupol สามารถหลบหลีกมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกต่อรัสเซีย ด้วยการจัดตั้งโรงงานผลิตในจีน ที่สามารถเข้าถึงชิปและผู้เชี่ยวชาญขั้นสูงได้
แต่เบนเดตต์ จาก CNAS มองว่าจีนมีเหตุผลที่จะขยับตัวอย่างระมัดระวัง “สำหรับการมีอยู่ของโรงงานที่ผลิตอากาศยานไร้คนขับให้รัสเซีย เป็นการเปิดทางให้จีนเผชิญกับผลกระทบจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงไม่มีความชัดเจนว่าจีนจะเปิดเผยเรื่องนี้มากแค่ไหน"
‘จี3’ เทียบชั้นกับ ‘โดรนรีปเปอร์’ ได้หรือไม่?
โดรน G3 เป็นอากาศยานไร้คนขับที่เป็นรูปแบบอัพเกรดใหม่ของโดรน Garpiya-A1 อ้างอิงจากรายงานของบริษัท IEMZ Kupol ที่ยื่นต่อกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ได้รับการออกแบบใหม่โดยผู้เชี่ยวชาญจีนที่ใช้พิมพ์เขียวของโดรน Garpiya-A1 และทางบริษัทระบุว่า ภายในเวลา 8 เดือน โครงการผลิตโดรนในจีนจะพร้อมสำหรับการผลิตโดรนโจมตี REM 1 ที่รองรับน้ำหนักได้ 400 กิโลกรัม ซึ่งแหล่งข่าวจากหน่วยข่าวกรองยุโรป 2 รายชี้ว่าจะเป็นระบบโดรนที่คล้ายคลึงกับโดรนรีปเปอร์ของสหรัฐฯ
แหล่งข่าวยังระบุว่า มีบริษัทด้านกลาโหมรัสเซีย TSK Vektor ที่เป็นตัวกลางระหว่าง IEMZ Kupol กับซัพพลายเออร์ในจีนในโครงการนี้ โดยทำงานร่วมกับ Redlepus TSK Vector ในเซินเจิ้น
นอกจากนี้ ในเอกสารอีกฉบับที่รอยเตอร์ได้รับ ชี้ว่า IEMZ Kupol, TSK Vektor และ Redlepus เตรียมจัดตั้งศูนย์วิจัยและผลิตโดรนขั้นสูง บนพื้นที่ 80 เฮกตาร์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษคาชการ์ ในมณฑลซินเจียง ซึ่งสามารถผลิตโดรนได้ 800 ลำต่อปี แต่ทั้งสองบริษัทไม่ได้ตอบกลับการขอความเห็นของรอยเตอร์ในช่วงเวลาที่จัดทำรายงานชิ้นนี้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กล่าวที่การประชุมด้านการผลิตโดรนในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กว่า กองทัพมอสโกได้รับโดรนราว 140,000 ลำเมื่อปี 2023 และรัฐบาลมอสโกมีแผนเพิ่มจำนวนโดรนให้ได้เป็น 10 เท่าตัวในปีนี้ และว่า “ใครก็ตามที่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องในสนามรบได้เร็วกว่าก็เป็นฝ่ายชนะ”
ทั้งนี้ รัสเซียและยูเครนต่างเร่งผลิตโดรนของตน ซึ่งเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงในสงครามระหว่างกัน
- ที่มา: รอยเตอร์