‘อียู’ ตัดสินใจไม่ห้ามส่งออกวัคซีนโควิด เลี่ยงสงครามวัคซีน-อนามัยโลกขอบริจาควัคซีน 10 ล้านโดส

FRANCE-EU-POLITICS-SUMMIT

FRANCE-EU-POLITICS-SUMMIT

ผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ อียู ตัดสินใจไม่ใช้มาตรการห้ามส่งออกวัคซีนต้านโควิด-19 ตามข้อเสนอของเออร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปโดยให้เหตุผลว่าเพื่อรักษา “ห่วงโซ่อุปทานวัคซีนระดับโลก” และป้องกันไม่ให้เกิด “สงครามวัคซีน” ขึ้น ขณะที่ องค์การอนามัยขอร้องให้นานาประเทศร่วมบริจาควัคซีนเพื่อนำไปใช้ในประเทศยากจน

ฟ็อน แดร์ ไลเอิน กล่าวกับที่ประชุมออนไลน์เมื่อวันพฤหัสบดีว่า มีการส่งวัคซีนข้ามช่องแคบอังกฤษไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นจำนวนของโดสวัคซีนส่วนใหญ่ที่อังกฤษได้รับ โดยโรงงานผลิตวัคซีนในอียูได้ส่งออกวัคซีนไป 77 ล้านโดส และส่งวัคซีน 88 ล้านโดสไปยังประเทศสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม

ประธานคณะกรรมาธิการอียู เรียกร้องให้ผู้นำอียูสนับสนุนกฎระเบียบของทางคณะกรรมาธิการ ที่ออกมาเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ห้ามส่งออกวัคซีนขณะที่อียูเผชิญปัญหาขาดแคลนวัคซีน

ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาคร็อง ของฝรั่งเศส สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว โดยระบุว่า ต้องมีการห้ามส่งออกวัคซีนเนื่องจากบริษัทยาบางบริษัทไม่ให้ความสำคัญต่อประเทศยุโรปเป็นหลัก เช่นเดียวกับสเปนและอิตาลีที่เรียกร้องให้งดส่งออกวัคซีนไปยังประเทศที่สามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้เป็นจำนวนมากหรือมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสต่ำ

อย่างไรก็ตาม เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ เบลเยียม และสวีเดน ไม่เห็นด้วยกับการห้ามส่งออกวัคซีน โดยประเทศเหล่านี้เน้นย้ำในแถลงการณ์หลังการประชุม ถึง “ความสำคัญของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก” ของวัคซีน ทั้งนี้ เบลเยียมและอังกฤษได้เจรจากันถึงข้อตกลงส่งออกวัคซีน

แถลงการณ์ดังกล่าวยังเรียกร้องให้บริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) บริษัทยาสัญชาติอังกฤษ-วีเดน ให้ “คาดการณ์ปริมาณการผลิตวัคซีนอย่างแม่นยำ และเคารพเส้นตายของการจัดส่งวัคซีนตามข้อสัญญา” โดยก่อนหน้านี้ แอสตราเซเนกาไม่สามารถส่งวัคซีนให้ประเทศอียูได้ตามกำหนด

อียูและอังกฤษประสบปัญหาไม่ได้รับวัคซีนจากแอสตราเซเนกาตามกำหนดเวลา โดยก่อนหน้านี้ อียูได้สั่งห้ามให้ส่งออกวัคซีนของแอสตราเซเนกา 250,000 โดสไปยังออสเตรเลีย

ทั้งนี้ การแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้าเป็นประเด็นร้อนไปทั่วยุโรป ในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นทั่วทวีปอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับสถานการณ์ในอังกฤษและสหรัฐฯ ที่มีการแจกจ่ายวัคซีนรวดเร็วกว่าจนยอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตลดลงเป็นอย่างมาก

European Commission President Ursula von der Leyen listens to a question during an online news conference at the end of a EU summit at the European Council building in Brussels, Thursday, March 25, 2021. European Union leaders struggled Thursday to…

ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ตกเป็นเป้าวิจารณ์ของเหตุการณ์ในครั้งนี้ เนื่องจากเธอเป็นผู้เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกอียูรวมจัดซื้อจัดจ้างวัคซีน และร่วมโครงการแจกจ่ายวัคซีนโดยทางการอียู

เธอและคณะกรรมาธิการยุโรปคนอื่นๆ ให้เหตุผลว่า การดำเนินการแบบพหุภาคีนี้จะช่วยลดการแข่งขันล่าวัคซีนระหว่างประเทศสมาชิก และส่งเสริมภาพลักษณ์ความร่วมมือของอียูและการบูรณาการทางการเมืองต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์จริงกลับไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

ผู้นำประเทศสมาชิกอียูยังยืนยันด้วยว่า แอสตราเซเนกาจะต้องเร่งจัดส่งวัคซีนให้ประเทศอียู โดยระบุว่า ทางบริษัทส่งออกวัคซีน 21 ล้านโดสที่ผลิตในประเทศอียู โดยส่วนใหญ่ผลิตในเบลเยียม ไปยังอังกฤษ ในขณะที่ประเทศอียูไม่ได้รับวัคซีนในจำนวนที่เป็นธรรม

แต่ทางอังกฤษแย้งว่า อังกฤษสามารถเจรจาแลจัดเตรียมห่วงโซ่อุปทานของวัคซีนได้ดีกว่าอียู และตกลงสั่งซื่อวัคซีนสามเดือนก่อนที่คณะกรรมาธิการอียูจะตกลง ทั้งนี้ อังกฤษสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปได้แล้ว 46 คนต่อ 100 คน เมื่อเทียบกับอียูที่ฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้เพียง 14 คน ต่อ 100 คนทั้งนี้ อังกฤษเสนอว่า จะช่วยลดความตึงเครียด โดยเสนอแบ่งปันวัคซีนที่จะผลิตที่โรงงานวัคซีนในเนเธอร์แลนด์ให้ประเทศสมาชิกอียู

เหตุการณ์นี้ส่งผลต่อความมั่นคงของเก้าอี้ผู้นำของ ฟ็อน แดร์ ไลเอิน เป็นอย่างมาก โดยฌอง-คล็อด จุงเคอร์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการอียู เตือนว่า แผนของเธออาจทำให้เกิดสงครามวัคซีน "โง่ ๆ"​ขึ้น โดยระบุว่า อียูอาจ “เสียชื่อเป็นอย่างมาก” หากจะสั่งห้ามส่งออกวัคซีนจากบริษัทในประเทศอียู โดยเขากล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า ควรต้องมีการเจรจาระหว่างคณะกรรมาธิการอียูและรัฐบาลอังกฤษแทนการใช้มาตรการดังกล่าว

คำเตือนของจุงเคอร์ยังทำให้ประเทศสมาชิกอียูกังวลว่า อาจเกิดผลกระทบตามมาจากมาตรการห้ามส่งออก โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบอาจมีมาตรการโต้กลับ และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของอียู

ประชาชนยังกดดันประเทศอียูให้เร่งแจกจ่ายวัคซีนด้วยเช่นกัน โดยผลการสำรวจความเห็นทั่วยุโรปโดย International Republican Institute องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรสัญชาติอเมริกัน ร่วมกับกลุ่มสภายุโรป ระบุว่า ชาวยุโรปเพียง 36 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เห็นว่าอียูมีประสิทธิภาพในการรับมือกับวิกฤติโรคระบาด ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถาม 93 เปอร์เซ็นต์ในสเปนระบุว่า พวกเขากังวลมากถึงการระบาดของไวรัสที่ยังดำเนินต่อไป

ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้ประชาคมโลกช่วยบริจากวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับประเทศยากจนทั้งหลาย เนื่องจากในเวลานี้ โครงการโคแว็กซ์ (COVAX) ซึ่งเป็นโครงการระหว่างประเทศเพื่อแจกจ่ายวัคซีน ยังขาดวัคซีนอยู่อีก 10 ล้านโดส

Tedros Gebreyesus

เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ขณะที่ทางโครงการนั้นพร้อมที่จะเดินหน้าส่งวัคซีนให้กับประเทศที่ต้องการ แต่กลับไม่มียาเพื่อจะนำส่ง โดยระบุว่า "ข้อตกลงทวิภาค การห้ามการส่งออก และแนวทาง 'วัคซีนชาตินิยม' ทำให้ตลาดเกิดภาวะบิดเบือนและความเหลื่อมล้ำของอุปทานและอุปสงค์แล้ว"

ในเวลาเดียวกัน มีรายงานข่าวว่า ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาติ 181 ประเทศได้ลงนามคำประกาศใหม่ที่สำนักงานยูเอ็น ที่นครนิวยอร์ค ซึ่งระบุว่า การฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 นั้นจะต้องเป็นการดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณชนทั่วโลก และเป็นสิ่งที่สามารถจัดซื้อจัดหาได้ มีความเท่าเทียม และเปิดโอกาสให้ทุุกฝ่ายเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม