Your browser doesn’t support HTML5
สหภาพยุโรป หรือ อียู กล่าวหาว่า บริษัทยา แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาที่จะส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศสมาชิกทั้งหมด 27 ประเทศได้ และส่งทนายตัวแทนยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อให้สั่งปรับผู้พัฒนาและผลิตวัคซีนรายนี้เป็นจำนวนเงินก้อนโตแล้ว
สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า อียู เริ่มดำเนินการทางกฎหมายกับ บริษัท แอสตราเซเนกา ตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังผู้ผลิตเวชภัณฑ์แห่งนี้แจ้งว่า ตนจะนำส่งวัคซีนโควิด-19 จำนวน 100 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนมิถุนายน แทนที่จะเป็น 300 ล้านโดสดังที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขาย
อียู ต้องการให้แอสตราเซเนกาส่งมอบวัคซีนที่ยังค้างอยู่อีกอย่างน้อย 120 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนหน้า หลังจากส่งมาเพียง 50 ล้านโดสเมื่อต้นเดือนนี้ แทนที่จะเป็น 200 ล้านโดสดังที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้น
ราฟาเอล แจฟเฟราลี ทนายความตัวแทนอียู แจ้งต่อศาลในกรุงบรัสเซลส์ ระหว่างการขึ้นให้ปากคำนัดแรกว่า “แอสตราเซเนกา ไม่แม้แต่จะพยายามที่จะทำตามสัญญา” และว่า อียู ต้องการให้บริษัทแห่งนี้จ่ายค่าปรับเป็นจำนวน 10 ยูโร (ราว 12.2 ดอลลาร์) ต่อโดส ต่อวันที่นำส่งล่าช้า เพื่อเป็นการชดเชยการที่ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ โดยให้การสั่งปรับนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป หากผู้พิพากษาเห็นชอบด้วย
แจฟเฟราลี ยังกล่าวด้วยว่า ทางอียูกำลังหาทางทำให้ แอสตราเซเนกา ได้รับโทษเพิ่มด้วยการจ่ายเงินอีกอย่างน้อย 10 ล้านยูโร สำหรับการทำผิดสัญญาแต่ละข้อด้วย โดยขอให้ผู้พิพากษาเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้
รายงานข่าวระบุว่า คำพิพากษาในคดีนี้น่าจะมีออกมาภายในเดือนหน้า
ขณะเดียวกัน ฮาคิม บูลาร์บาห์ ทนายความของ แอสตราเซเนกา โต้ว่า สัญญาที่ทำขึ้นมานี้ “มิใช่สัญญาเพื่อส่งมอบรองเท้าหรือเสื้อยืด” พร้อมย้ำว่า กระบวนการผลิตวัคซีนชนิดใหม่นี้มีความซับซ้อนกว่าผลิตภัณฑ์ปกติทั่วๆ ไป
บูลาร์บาร์ กล่าวด้วยว่า คำกล่าวหาของอียูนั้น เป็นเรื่อง “น่าตกใจ” อย่างยิ่ง และชี้ว่า ทางบริษัทได้คำนวณเป้าหมายการจัดส่งโดยประเมินจากกำลังการผลิตของตนในช่วงต้นๆ และยังจำหน่ายวัคซีนนี้ในราคาต้นทุนด้วย รวมทั้ง ยืนยันว่า แอสตราเซเนกา ได้ย้ำมาตลอดว่า เงื่อนไขในสัญญานั้นไม่ได้เป็นการผูกมัดใดๆ แต่บริษัทจะพยายามสุดความสามารถในการนำส่งออเดอร์ให้ได้เร็วที่สุด