ประเทศสาธารณรัฐเซเชลส์ (Seychelles) ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิดต่อประชากรในประเทศสูงที่สุดในโลก ประกาศปิดโรงเรียนและยกเลิกกิจกรรมการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ อีกครั้ง หลังจากพบจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น ตามรายงานของวอชิงตันโพสต์ และบลูมเบิร์ก
มาตรการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อป้องกันการระบาดรอบใหม่ แม้ว่ามากกว่า 60% ของจำนวนประชากรวัยผู้ใหญ่ของเซเชลส์ต่างได้รับวัคซีนโควิดครบสองโดสแล้วก็ตาม
โดยปัจจุบัน เซเชลส์คือประเทศที่มีอัตรการฉีดวัคซีนโควิดต่อประชากรวัยผู้ใหญ่มากที่สุดในโลก คือ 62.2% รองลงมาคือ อิสราเอล ที่ระดับ 55.9%
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของเซเชลส์ เพกกี้ วิดอต แถลงข่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า แม้รัฐบาลได้ใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการระบาดแล้ว แต่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังคงสูงขึ้น และสถานการณ์ในประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ โดยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 1,068 คน เมื่อวันที่ 3 พ.ค. จากระดับ 612 คนเมื่อวันที่ 28 เมษายน
ประเทศสาธารณรัฐเซเชลส์ ซึ่งเป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย มีจำนวนประชากรทั้งหมด 98,000 คน เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนตั้งแต่เดือนมกราคม โดยใช้วัคซีนจากบริษัทซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ของจีนเป็นหลัก ซึ่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นผู้บริจาควัคซีนดังกล่าวให้กับเซเชลส์
รายงานของบลูมเบิร์ก ระบุว่า จนถึงวันที่ 12 เมษายน 59% ของวัคซีนที่ฉีดในประเทศนี้เป็นวัคซีนของซิโนฟาร์ม ที่เหลือเป็นวัคซีนที่ชื่อว่า โควิชีลด์ (Covishield) ซึ่งเหมือนวัคซีนของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) แต่ผลิตในอินเดีย
เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเซเชลล์ที่แถลงข่าวเรื่องนี้ มิได้เปิดเผยรายละเอียดมากนักว่าสาเหตุใดที่ทำให้การติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น เพียงแต่บอกว่าประชาชนจำนวนมากละเลยมาตรการควบคุมการระบาด นอกจากนี้ยังอาจเป็นเพราะการเฉลิมฉลองเทศกาลอีสเตอร์ในช่วงที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์ แดเนียล ลูซีย์ แห่ง Geisel School of Medicine มหาวิทยาลัย Dartmouth ในสหรัฐฯ ระบุว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสในเซเชลส์ มีอยู่ราว 16% ที่เป็นชาวต่างชาติ และมีเกือบ 2 ใน 3 ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีดเพียงโดสเดียว ส่วนที่เหลือคือมากกว่า 1 ใน 3 ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วทั้งสองเข็ม
ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้ชี้ด้วยว่า พบเชื้อโคโรนาไวรัสกลายพันธุ์จากอาฟริกาใต้ สายพันธุ์ B.1351 ในเซเชลส์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกระนั้นยังไม่สามารถระบุได้ว่าการระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้เกิดจากสายพันธุ์นี้หรือไม่
ที่ผ่านมาดูเหมือนวัคซีนของแอสตราเซเนกาจะมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันสายพันธุ์ดังกล่าว จนทำให้อาฟริกาใต้ต้องระงับการใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกามาแล้วด้วย