ไขความลับ! 'รอยเหี่ยวย่น' บนใบหน้าและลำตัวของช้างอาฟริกา

Orphaned baby elephants are seen after being bottle-fed, at the David Sheldrick Elephant Orphanage near Nairobi, Kenya, Oct. 2, 2018.

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับริ้วรอยเหี่ยวย่นของช้างพุ่มไม้แอฟริกา (Bush Elephant) พบว่ารอยย่นเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างประณีตเพื่อช่วยให้ผิวหนังช้างเก็บรักษาความเย็น ต่อสู้กับเชื้อโรค และปกป้องผิวจากแสงแดด

กล่าวคือ ร่องของรอยย่นที่ละเอียดถี่ยิบเป็นล้านๆ ช่อง แสดงถึงว่าผิวหนังของช้างสามารถเก็บน้ำไว้ได้มากกว่าพื้นผิวที่เรียบราว 5-10 เท่า

งานวิจัยที่ดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และสถาบันชีวสารสนเทศสวิสฯ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เมื่อวันอังคาร

นักวิจัยชี้ว่าเนื่องจากขนาดร่างกายที่ใหญ่โตมโหฬาร และการอยู่อาศัยในที่อบอุ่นและแห้ง ช้างแอฟริกาสามารถหลีกเลี่ยงความร้อนจัด โดยการลดปริมาณไขมันในเส้นเลือด ผ่านการระเหยของน้ำที่สะสมไว้ทั้งในและบนผิวหนัง

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่ารอยย่นบนผิวของช้างไม่ได้เป็นเพียงแค่รอยพับหรือริ้วรอยเท่านั้น แต่พบว่าเป็นรอยแตกที่เกิดขึ้นจริงบนผิวหนังชั้นนอกที่มีความเปราะบาง ซึ่งเกิดจากผิวหนังที่ขยายตัวจนทำให้เกิดรอยแตกในเวลาที่สัตว์เคลื่อนไหวตัว

เป็นที่ทราบกันดีว่า ช้างแอฟริกาชอบอาบน้ำ ฉีดพ่นน้ำ และเกลือกกลิ้งในโคลนตม และเนื่องจากช้างไม่มีต่อมเหงื่อและต่อมไขมันเพื่อช่วยให้ผิวหนังมีความชุ่มชื่นและอ่อนนุ่ม ดังนั้นรอยย่นเล็กๆ จะช่วยกักน้ำและโคลน ในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย