“ลด-ละ-เลิก การใช้หลอด” เนื่องในวัน “เอิร์ธ เดย์”

Stainless steel straws are displayed at the cooperative Sin Plastico (Without Plastic), which offers environmentally friendly household items free from plastic materials and packaging, in Bilbao, Spain, April 6, 2018. Britain plans to ban the sale of plas

Your browser doesn’t support HTML5

“ลด-ละ-เลิก การใช้หลอด” เนื่องในวัน “เอิร์ธ เดย์”

เนื่องในโอกาสวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day ในวันที่ 22 เมษายน มีการส่งเสริมการลดการก่อมลพิษจากขยะพลาสติก ที่ทำได้ง่ายและเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ด้วยการลด-ละ-เลิก การใช้หลอดที่ทำจากพลาสติก

เครื่องดื่มเกือบทุกชนิด มักมาพร้อมกับหลอดพลาสติกกันแทบทั้งนั้น และทำให้พบขยะประเภทนี้ปรากฏอยู่ทุกหัวระแหงด้วยเช่นกัน

Sarah Kollar ตัวแทนจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Ocean Conservancy บอกว่า ตลอดเวลา 30 ปีที่อาสาสมัครลงพื้นที่เก็บขยะตามแหล่งน้ำทั่วโลก พบหลอดและที่คนกาแฟพลาสติกมากกว่า 10 ล้านชิ้น ตามชายหาดและแหล่งน้ำทั่วโลก

หลอดและที่คนกาแฟซึ่งทำจากพลาสติกนี้เป็นส่วนหนึ่งของขยะพลาสติกราว 150 ล้านตัน ที่ลอยไปติดตามชายฝั่ง ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และพัดเข้าไปยังเขตที่อยู่อาศัยของผู้คนตามชายฝั่งด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ทุกๆปี จะมีขยะพลาสติกใหม่ไหลลงสู่แหล่งน้ำราว 8 ล้านตันด้วย

Bridget Croke เจ้าหน้าที่จาก Closed Loop Partners กลุ่มบริษัทการลงทุนเพื่อความยั่งยืน บอกว่า ปัญหานี้ลุกลามขึ้นเรื่อยๆ ในอาเซียน ซึ่งขาดโครงสร้างพื้นฐานในการบริหารจัดการขยะที่เพียงพอ ท่ามกลางการขยายตัวของเขตเมืองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งพฤติกรรมการใช้พลาสติกเพียงครั้งเดียวโดยไม่นำกลับไปใช้ซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้กลับไม่เกิดขึ้นกับขวดพลาสติก เนื่องจากมีกลุ่มที่เก็บขวดพลาสติกไปขาย ซึ่งช่วยลดปัญหาเหล่านี้ไปได้บ้าง

ทาง Closed Loop Partners ได้ร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ในการเสนอการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ รวมทั้งเสนอให้มีการลงทุนในระบบรีไซเคิลมากขึ้นด้วย

แต่กว่าจะถึงเวลานั้น ทาง Ocean Conservancy มองว่า การเลิกใช้หลอดพลาสติก จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีกว่า

คุณ Sarah ย้ำว่า ปัจจุบันนี้มีเครื่องดื่มที่ไม่พึ่งพาการใช้หลอดมากขึ้น จึงมองว่าการลด ละ เลิกการใช้หลอดพลาสติก น่าจะเป็นหนทางหนึ่งในการสกัดกั้นไม่ให้หลอดพลาสติกเหล่านี้ไปสิ้นสุดที่ชายหาดและแหล่งน้ำอื่นๆทั่วโลกได้ไม่มากก็น้อย

หรือหากยังไม่ชินหรือไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้หลอดได้ ก็อาจเปลี่ยนไปใช้หลอดที่สามารถใช้ซ้ำ อย่างหลอดที่ทำจากเหล็กหรือสแตนเลส ซึ่งเริ่มนำมาใช้ในบางประเทศแล้ว