ผู้เชี่ยวชาญมองสงครามเมียนมา ชี้ ต้องคลายปมซับซ้อน ควรเริ่มที่หยุดยิง

  • VOA

แฟ้มภาพ (ที่มา: AP)

วีโอเอภาคภาษาพม่า คุยกับ รศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช์ อาจารย์จากโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่วิเคราะห์สงครามในเมียนมาว่ามีความซับซ้อนทั้งในแง่คู่ขัดแย้งและภูมิทัศน์การเมือง ซึ่งควรมียุทธศาสตร์จัดการความขัดแย้งที่ดีและรัดกุม

ดุลยภาคให้สัมภาษณ์ที่งานเสวนา “The Regional Responses to Myanmar” เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยกล่าวว่า “ก้าวแรกเราจึงควรให้ความสนใจเป็นพิเศษไปที่ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ เพื่อหยุดยั้งความขัดแย้งในเมียนมา

“จากนั้น เราถึงสามารถเดินหน้าเรื่องการคลี่คลายความขัดแย้งด้วยการอำนวยให้เกิดบทสนทนาทางการเมือง นำคู่ขัดแย้งทางการเมืองมาร่วมกันหารือเรื่องสหพันธรัฐและการพัฒนาประชาธิปไตย”

รัฐบาลทหารเมียนมาเผชิญกับความท้าทายในการบริหารประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่รัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2021 ทั้งในแง่การต่อต้านทั้งทางการเมืองและการทหารจากประชาชนและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ แต่ยังถูกคว่ำบาตรจากภาครัฐและเอกชนจากหลายประเทศ

การสู้รบที่ดำเนินมาเข้าปีที่สาม ทหารเมียนมา หรือ ‘ทัตมาดอว์’ สูญเสียพื้นที่ให้กับฝ่ายต่อต้านหลายแห่ง รวมถึงเมืองจุดยุทธศาสตร์สำคัญตามชายแดน เช่นเมืองเล้าก์ก่ายที่ติดกับจีน รวมถึงที่มั่นใหญ่ทางทหารในภาคพื้นตะวันออกเฉียงเหนือในเมืองล่าเสี้ยว ที่ถูกยึดครองโดยกลุ่มพันธมิตรสามภราดร (Three Brotherhood Alliance)

เจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำนวยการโครงการเมียนมา จากองค์กรคลังสมอง United States Institute of Peace คาดการณ์ว่ากลุ่มพันธมิตรดังกล่าวได้ยึดพื้นที่ในเมียนมาได้อีกราว 12,000 ตร.กม. นับตั้งแต่เปิดปฏิบัติการ 1027 ที่นำมาสู่การยึดที่มั่นที่เล้าก์ก่ายและล่าเสี้ยว

ดุลยภาคระบุว่า ปัจจุบันสามารถแบ่งพื้นที่ของเมียนมาได้สามประเภท ได้แก่ หนึ่ง พื้นที่สมาพันธรัฐแบบหลวม ๆ ที่ปกครองโดยกลุ่มสหพันธรัฐว้า (UWSA) และกลุ่มอื่น ๆ ภายใต้อิทธิพลของจีน สอง พื้นที่พื้นที่ในกลางพม่า ที่กองทัพเมียนมาครองอยู่ และพื้นที่ที่สามคือพื้นที่ที่ผลักดันให้เกิดสหพันธรัฐประชาธิปไตย ซึ่งเป็นวาระที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่เป็นรัฐบาลเงาถือเป็นวาระหลัก

ดุลยภาคกล่าวว่า “หลายกลุ่มก้อนการเมืองในตอนนี้กำลังคิดเรื่องรูปแบบการปกครอง(ทั้งรูปแบบ) สมาพันธรัฐ สหพันธรัฐ หรือรัฐเดี่ยว ดังนั้น จะทำอย่างไรให้เกิดการหลอมรวมรูปแบบที่แตกต่างกันภายใต้กรอบสหพันธรัฐ”

ก่อนถูกยึดอำนาจในปี 2021 รัฐบาลพลเรือนที่นำโดยพรรค NLD มีวาระผลักดันการทำรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งหนึ่งในวาระที่ถูกพูดถึงคือการสร้างพื้นฐานที่จะนำไปสู่การเกิดสหพันธรัฐประชาธิปไตย ในประเทศที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ถือครองอำนาจทางการเมืองและทางอาวุธอยู่ในหลายพื้นที่

สำหรับบทบาทของประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุว่า ยังมีปัญหาในการมีนโยบายต่างประเทศในประเด็นเมียนมา เนื่องจากมีกลุ่มอิทธิพลหลายกลุ่ม เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กองทัพบก นายกรัฐมนตรี รวมถึงพรรคก้าวไกลที่มีฐานในรัฐสภา

“ดังนั้น จะทำอย่างไรเพื่อรวมมุมมองที่แตกต่างกันให้ไปสู่ฉันทามติร่วม ในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ และมีบทบาทเชิงรุกในเมียนมามากขึ้น” ดุลยภาคกล่าว

  • ที่มา: วีโอเอ