Your browser doesn’t support HTML5
นักวิจัยระบุว่า วิธีการล่าหาอาหารของสุนัขเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมและถิ่นที่อยู่ของสุนัขที่เปลี่ยนไปตามสภาพภูมิอากาศโลก ข้อสรุปที่ว่านี้มาจากการศึกษาซากฟอสซิลของสุนัขสมัยโบราณก่อนประวัติศาสตร์
ในยุคสมัยนั้น สุนัขซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อ โดยรวมทั้งสุนัขจิ้งจอกและสุนัขป่า มีขนาตตัวเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับสุนัขสมัยนี้
นักวิจัย Borja Figueirido นักชีววิทยาที่ศึกษาชีวิตของพืชและสัตว์โบราณของมหาวิทยาลัย Malaga ในเสปนและทีมงาน ศึกษาซากฟอสซิลของสุนัขในทวีปอเมริกาเหนือย้อนหลังไปไกล 37 ล้านปีก่อนคริสตศักราช และลงความเห็นว่า สุนัขในสมัยนั้นเป็นนักล่าสัตว์ชนิดลอบจู่โจม ปรับการล่าอาหารให้เข้ากับสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นป่าใหญ่ สะกดรอยและกระโดดใส่เหยื่อในลักษณะเดียวกันกับแมวสมัยนี้
รายงานการวิจัย ซึ่งตีพิมพ์ลงไว้ในวารสาร Nature Communications กล่าวว่า สุนัขสมัยนั้นมีขาสั้น และข้อต่อที่ข้อศอกหมุนเคลื่อนที่ได้ เหมาะกับการปลุกปล้ำเหยื่อให้สยบลงกับพื้นดิน ส่วนขาสั้นนั้นสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าทึบเต็มไปด้วยพุ่มไม้และพืชต่ำเตี้ย
เวลาผ่านไป และโลกเย็นลง ในขณะที่อากาศห่อหุ้มโลกร้อนขึ้น มีความชื้นน้อยลง เริ่มมีทุ่งหญ้าแบบทุ่งหญ้าในทวีปแอฟริกาปรากฏ ซากฟอสซิลสุนัขในช่วง 25 ล้านปีก่อนคริสตศักราชนี้แสดงพัฒนาการของสุนัขที่มีขาหน้ามีข้อแข็งขึ้นเหมาะกับการวิ่ง แทนการสะกดรอยและการจู่โจม หรือจะว่าบรรพบุรุษของสุนัขเริ่มมีการปรับเปลี่ยนทางสรีระให้เหมาะกับการเป็นนักวิ่งไล่ล่าอาหารตามทุ่งโล่งก็ได้
การเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มต้นเมื่อราวๆ 7 ล้านปีก่อนคริสตศักราช และอาจารย์ Borja Figueirido บอกว่า สุนัขในยุคนี้กลายมาเป็นผู้มีความชำนาญพิเศษ ปรับตัวให้กลายมาเป็นนักวิ่งทางไกล
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นกับสัตว์กินพืชเป็นอาหารด้วย โดยได้มีการศึกษาวิธีการเสาะหาอาหารและลักษณะฟันที่เปลี่ยนไปของสัตว์ประเภทนี้ เช่นม้าไว้แล้วด้วย
นับเป็นครั้งแรกที่นักวิจัยผูกโยงการเปลี่ยนแปลงขนาดตัว สรีระและวิธีการล่าหาอาการของสัตว์กินเนื้อ ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของถิ่นที่อยู่ในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกให้เห็น