วิเคราะห์: เเคนดิเดตรองปธน.มีผลต่อการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ แค่ไหน?

  • VOA

จากซ้ายไปขวา สว.รัฐโอไฮโอ เจ ดี เเวนซ์ แคนดิเดตรองปธน.ของพรรครีพับลิกัน และอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทั้งสองจะเเข่งขันในการเลือกตั้งปลายปีนี้กับ รองปธน.คามาลา แฮร์ริส และผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา ทิม วอลซ์ ซึ่งเป็นแคนดิเดตรองปธน.ของพรรคเดโมเเครต

คอการเมืองอเมริกันต่างทราบกันเเล้วว่าทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมเเครตจะส่งใครเป็นตัวเเทนลงเเข่งในตำแหน่งรองประธานาธิบดี การประกาศชื่อ สว.รัฐโอไฮโอ เจ ดี เเวนซ์ เป็นเเคนดิเดตในตำแหน่งนี้เมื่อเดือนที่เเล้ว และการเปิดตัวผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา ทิม วอลซ์ โดยพรรคเดโมเเครตในสัปดาห์นี้ ต่างสร้างความคึกคักให้กับการหาเสียงของทั้งสองพรรค

อย่างไรก็ตาม มักเกิดคำถามว่าตัวเลือกสำหรับประชาชนในตำแหน่งรองปธน. มีผลมากน้อยเพียงใดต่อผลการเลือกตั้งผู้นำอเมริกัน

ผู้เชี่ยวชาญการเมืองสหรัฐฯ กล่าวว่าความเป็นตำแหน่ง 'เบอร์สอง' ในทำเนียบขาวมักทำให้รองปธน. ถูกมองด้วยความเข้าใจผิด ๆ ทั้งที่จริงแล้วมีความสำคัญไม่น้อย

โจล โกลด์สไตน์ ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับตำแหน่งรองประธานาธิบดี กล่าวว่า "ตำแหน่งนี้คือการทำหน้าที่ผู้ช่วย ในการสนับสนุนและสานต่องานด้านนโยบาย และต่อเติมบทบาทของประธานาธิบดีในการทำหน้าที่ผู้นำของชาติและของโลก"

นอกจากนั้นตำแหน่งรองปธน.ยังช่วยเพิ่มความน่าตื่นเต้นให้กับการหาเสียงของเเคนดิเดตปธน.ด้วย

"ที่บิล คลินตันเลือกอัล กอร์ในปี 1992 เป็นการเลือกที่ดีมาก เป็นการผสมผสานระหว่างคนหนุ่มแนวคิดสายกลางจากรัฐทางใต้ ที่เป็นคนรุ่นเบบีบูมเมอร์ ซึ่งส่งสัญญาณไปสู่ประชาชนถึงการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นสู่รุ่น" โกลด์สไตน์กล่าว

Your browser doesn’t support HTML5

วิเคราะห์: เเคนดิเดตรองปธน.มีผลต่อการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ แค่ไหน?

สำหรับตัวอย่างการเลือกเเคนดิเดตรองปธน.ที่ไม่ค่อยส่งเสริมการหาเสียง ในสายตาอาจารย์โกลด์สไตน์ คือเมื่อปี 2008 ปีพรรครีพับลิกันได้ ซาราห์ เพลิน ผู้ว่าการรัฐอะแลสกา มาลงคู่กับสว. จอห์น เเมคเคน จากรัฐแอริโซนา

โกลด์สไตน์บอกว่า เพลินถูกล้อเลียนเป็นตัวตลก และไม่ส่งผลดีต่อการหาเสียงของเเมคเคน เเม้ว่าจะไม่ใช่สาเหตุที่สว.ผู้นี้แพ้เลือกตั้งคราวนั้น

สำหรับการเลือกตั้งปธน.ปีนี้ พรรครีพับลิกันอาจจะสร้างผลดีจากการได้ สว. เเวนซ์ มาลงคู่กับอดีตปธน. ทรัมป์ ตามความเห็นของปีเตอร์ ลอจ ผู้อำนวยการ คณะการสื่อสารและกิจการสาธารณะแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน

เขากล่าวว่า "เรื่องราวที่พวกเขาถ่ายทอดออกมาคือ มันเคยมีความเป็นอเมริกันที่ ถ้าคุณทำงานหนักและทำตามกฎ ครอบครัวชนชั้นกลางอย่างคุณจะประสบความสำเร็จได้ ตอนนี้ความเป็อเมริกาในแบบนั้นมันไม่มีอีกแล้ว แต่ถ้าเลือกพวกเขา มันจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง"

สำหรับฝั่งเดโมเเครตที่ได้ผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา ทิม วอลซ์ มาลงคู่กับรองปธน.แฮร์ริส อาจารย์เอลิซาเบธ เคลเมนส์ นักสังคมวิทยาการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าวว่า วอลซ์มาพร้อมกับเรื่องราวของการเน้นยำ้เรื่องปากท้องของครอบครัว ที่ถูกสะท้อนออกมาจากคำว่า pro-family economics

เธอกล่าวว่า pro-family economics ในที่นี้ไม่ใช่เรื่องการสนับสนุนให้ควบคุมสิทธิ์การเจริญพันธุ์ของสตรี แต่เป็นเรื่อง "การสนับสนุนทางเศรษฐกิจต่อครอบครัว ทั้งเรื่องการศึกษา การดูเเลสุขภาพ การมีที่อยู่อาศัย และความก้าวหน้าด้านการงาน"

  • ที่มา: วีโอเอ