ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สว.แวนซ์ คู่หูเลือกตั้งรองปธน.ของทรัมป์แสดงจุดยืนหนุนอิสราเอล-ต้านจีน


สว. เจ ดี แวนซ์ จากโอไฮโอ ขณะขึ้นกล่าวปราศรัยในวันที่ 3 ของการประชุมใหญ่พรรครีพับลิกัน 2024 ที่เมืองมิลวอกี รัฐวิสคอนซิน เมื่อ 17 ก.ค. 2567
สว. เจ ดี แวนซ์ จากโอไฮโอ ขณะขึ้นกล่าวปราศรัยในวันที่ 3 ของการประชุมใหญ่พรรครีพับลิกัน 2024 ที่เมืองมิลวอกี รัฐวิสคอนซิน เมื่อ 17 ก.ค. 2567

วุฒิสมาชิก เจ ดี แวนซ์ จากรัฐโอไฮโอ ปราศรัยตอบรับการเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างเป็นทางการแล้ว พร้อมเน้นย้ำความมุ่งมั่นในประเด็นความมั่นคงของประเทศและนโยบายต่างประเทศภายใต้ธีม “Make America Strong Again”

ในคำปราศรัยที่การประชุมใหญ่ของพรรคเมื่อคืนวันพุธ แวนซ์ กล่าวว่า “ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นตัวแทนของความหวังสุดท้ายที่ดีที่สุดของอเมริกาในการฟื้นฟูสิ่งที่ว่า หากสูญเสียไปแล้ว ก็อาจะไม่มีทางกลับคืนมาได้อีก” และว่า “ประเทศที่เด็กชายจากสังคมชนชั้นแรงงานที่มาจากที่อันห่างไกลจากคลังแห่งอำนาจสามารถมายืนบนเวทีนี้ในฐานะรองประธานาธิบดีคนถัดไปของสหรัฐอเมริกาได้”

นอกจากนั้น สว.วัย 39 ปีที่เคยทำงานในสายการลงทุน ในฐานะ Venture Capitalist ยังได้ใช้เวลาไม่น้อยพูดถึงภัยคุกคามจากจีน แต่ไม่ได้พูดเกี่ยวกับการรุกรานรัสเซียโดยยูเครนและสงครามในกาซ่าเลย

ถึงกระนั้น แวนซ์พยายามสะท้อนถึงแนวความคิดการเป็นชาวรีพับลิกันในยุคของอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ที่สนับสนุนการแทรกแซงทางเศรษฐกิจของอเมริกา แต่ก็แสดงให้เห็นถึงมุมมองเกี่ยวกับยูเครนที่ขัดแย้งกับความคิดของตน ด้วยการร้องขอให้พรรครีพับลิกัน “เป็นพรรคที่ไม่กลัวที่จะอภิปรายโต้แย้งแนวความคิดต่าง ๆ”

สว.หนุ่มจากรัฐโอไฮโอนี้เพิ่งเข้าสู่วงการการเมืองไม่ถึง 2 ปีและมีประสบการณ์ด้านนโยบายต่างประเทศไม่มาก แต่สิ่งที่ได้กล่าวออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับวาทะของทรัมป์ว่า “อเมริกา มาก่อน” (America First) และเผยให้เห็นมุมมองต่อสถานการณ์โลกที่สรุปสั้น ๆ ได้ว่า สนับสนุนอิสราเอล ต้านจีนและทำให้ยุโรปกระวนกระวายใจ

ในฐานะที่เคยเป็นทหารอเมริกันในเหล่านาวิกโยธินที่ร่วมสงครามในอิรัก แวนซ์แสดงความข้องใจเกี่ยวกับการที่สหรัฐฯ ทำการแทรกแซงทางทหารในต่างประเทศ ยกเว้นแต่กรณีของอิสราเอล ทั้งยังแสดงจุดยืนคัดค้านการส่งความช่วยเหลือไปประเทศอื่นเป็นส่วนใหญ่ โดยแย้งว่า สหรัฐฯ ไม่สามารถสนับสนุนทั้งยูเครนและตะวันออกกลาง รวมทั้งเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกไปพร้อม ๆ ทีเดียวกันได้

เมื่อครั้งเข้าร่วมประชุม Munich Security Conference ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แคนดิเดตชิงเก้าอี้รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้นี้เคยกล่าวว่า “มันไม่สมเหตุสมผลเลย” และว่า “คิดคำนวณอย่างไรก็ไม่เวิร์ค ในแง่ของการผลิตอาวุธ”

อย่างไรก็ตาม แวนซ์นั้นไม่ได้เป็นผู้ที่เชื่อในเรื่องการโดดเดี่ยวตนเองอย่างที่บางคนวิจารณ์ไว้ ตามความเห็นของ เอ็มมา แอชฟอร์ด นักวิชาการอาวุโสจากโครงการ Reimagining U.S. Grand Strategy ของศูนย์ Stimson Center

อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ แคนดิเดตเลือกตั้งปธน. 2024 จากพรรครีพับลิกัน และ สว. เจ ดี แวนซ์ แคนดิเดตเลือกตั้งรองปธน. ที่งานประชุมใหญ่พรรครีพับลิกัน ที่เมืองมิลวอกี เมื่อ 15 ก.ค. 2567
อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ แคนดิเดตเลือกตั้งปธน. 2024 จากพรรครีพับลิกัน และ สว. เจ ดี แวนซ์ แคนดิเดตเลือกตั้งรองปธน. ที่งานประชุมใหญ่พรรครีพับลิกัน ที่เมืองมิลวอกี เมื่อ 15 ก.ค. 2567

ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่ Quincy Institute for Responsible Statecraft เมื่อไม่นานมานี้ แวนซ์ให้คำจำกัดความเป้าหมายนโยบายต่างประเทศของตนไว้ว่า “เราต้องการให้ชาวอิสราเอลและ(ผู้นับถือศาสนาอิสลาม)นิกายสุหนี่รับผิดชอบการพิทักษ์สันติราษฎร์ในภูมิภาคของตน เราต้องการให้ชาวยุโรปดูแลความสงบเรียบร้อยภูมิภาคของตน และเราก็ต้องการที่จะสามารถมุ่งความสนใจไปยังเอเชียตะวันออกมากขึ้น”

แอชฟอร์ด นักวิชาการอาวุโสศูนย์ Stimson Center บอกกับ วีโอเอ ว่า “คุณอาจเรียกเขาว่าเป็นผู้นิยมความสัจจริง (realist) หรือบางทีก็เป็นผู้นิยมการจัดลำดับความสำคัญ (prioritizer) ก็ได้” แต่นั่นก็เป็นภาพที่แตกต่างอย่างมากจากแนวนโยบายของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนที่ยืนยันมาเสมอว่า “ทุกภูมิภาคนั้นมีความเชื่อมต่อกัน และสหรัฐฯ ก็ต้องเป็นผู้นำในทุกด้าน”

แอชฟอร์ดกล่าวด้วยว่า สิ่งที่แวนซ์นำเสนอยังถือเป็นการฉีกออกจากนโยบายต่างประเทศหลังยุคสงครามเย็นของสหรัฐฯ ด้วย

ลดการสนับสนุนยูเครน

ในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญนั้น แวนซ์มีจุดยืนไปในทิศทางเดียวกับทรัมป์ที่ย้ำว่า กรุงวอชิงตันต้องลดการสนับสนุนยูเครนและบีบให้ยุโรปมีบทบาทมากขึ้นในด้านการรักษาความมั่นคงในทวีปของตน

แวนซ์กล่าวที่การประชุมที่มิวนิคไว้ว่า “ผมไม่คิดว่า วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่สำหรับยุโรป” และว่า กรุงเคียฟควรหาทาง “เจรจาสันติภาพ” กับมอสโก แม้ว่านั้นจะหมายถึงการยอมยกอาณาเขตของตนให้รัสเซียก็ตาม โดยความเห็นแนวนี้ได้ทำให้กลุ่มนักการทูตยุโรปกังวลหนักขึ้นมาทันที

จอห์น เฮิบสท์ อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำยูเครน ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโสของศูนย์ Eurasia Center ของ Atlantic Council ออกมาวิจารณ์แวนซ์ในเรื่องนี้และบอกกับ วีโอเอ ว่า สว.ผู้นี้ “ไร้เดียงสาอย่างมากเกี่ยวกับรัสเซียภายใต้การนำของปูติน”

เมื่อกลับไปมองความเห็นของทรัมป์ที่ว่า ตนจะไม่ปกป้องประเทศใด ๆ ก็ตามที่ไม่จัดงบประมาณกลาโหมตามเป้าของนาโต้ และให้ความเห็นเชิงสนับสนุนปูตินให้โจมตีประเทศเหล่านั้น ผนวกกับคำวิพากษ์วิจารณ์ยูเครนของแวนซ์แล้ว รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของทรัมป์-แวนซ์กลายมาเป็นประเด็นที่ทำให้ยุโรปตื่นตระหนกทั้งทวีปทันทีด้วย

แต่เฮิบสท์ก็ยังมองโลกในแง่ดีและให้ความเห็นว่า ทรัมป์อาจไม่มองว่ายูเครนคือประเด็นที่มีความสำคัญมากที่สุด แต่การที่อดีตปธน.ผู้นี้ “มองตนเองว่าเป็นผู้นำแนวกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ (strongman) และไม่ต้องการถูกมองว่าดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ล้มเหลว ... ชัยชนะของรัสเซียในยูเครน หาก(เกิดขึ้นในเวลาที่)ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี จะถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวอย่างมากในด้านนโยบายต่างประเทศ”

สนับสนุนอิสราเอลมากขึ้น

ขณะที่ แวนซ์นำเสนอตัวเองว่าเป็นผู้ที่ทายาทแนวนโยบาย “อเมริกา มาก่อน” ประเด็นของอิสราเอลอาจเป็นข้อยกเว้น โดยเมื่อดูการออกมาอ้างถึงความเชื่อทางศาสนาคริสต์แล้ว สว.หนุ่มผู้นี้อาจเป็นผู้สนับสนุนอิสราเอลหนักยิ่งกว่าปธน.ไบเดนเสียอีก และอาจผลักดันให้ส่งความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับคัดค้านการตั้งขีดจำกัดในการทำสงครามของอิสราเอลด้วย

ไบรอัน คาทูลิส นักวิชาการอาวุโสจาก Middle East Institute กล่าวว่า “การสนับสนุนอิสราเอลอย่างหนักของแวนซ์ คือ ภาพสะท้อนของการให้ความสำคัญต่อมุมมองตามความเชื่อตามคำสอนของศาสนาคริสต์แบบอนุรักษ์นิยมที่พรรครีพับลิกันยึดถืออยู่ในปัจจุบัน และความคิดของกลุ่มชาตินิยมที่เป็นคนผิวขาวและนับถือศาสนาคริสต์ที่มีที่มาจากอิทธิพลของทรัมป์ที่คุมพรรคนี้ไว้อยู่”

แฟ้มภาพ - สว. เจ ดี แวนซ์ จากรัฐโอไฮโอ ขณะเดินทางมาร่วมการลงมติสำหรับงบความช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับการสนับสนุนทางทหารที่อาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน เมื่อ 11 ก.พ. 2567
แฟ้มภาพ - สว. เจ ดี แวนซ์ จากรัฐโอไฮโอ ขณะเดินทางมาร่วมการลงมติสำหรับงบความช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับการสนับสนุนทางทหารที่อาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน เมื่อ 11 ก.พ. 2567

คาทูลิสยังวิจารณ์มุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์โลกของแวนซ์ว่า เป็นภาพสะท้อนของการโต้แย้งแบบเลือกข้างสุดขั้วและมีความสับสน จากขั้วค่ายแนวคิดโดดเดี่ยวตนเอง ที่ถือกำเนิดขึ้นมาหลังสหรัฐฯ ไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน มากกว่าจะเป็น “โลกทัศน์ที่เชื่อมโยงกันจริง ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่จะช่วยปกป้องผลประโยชน์และค่านิยมของอเมริกาในโลกนี้”

แนวคิดสายเหยี่ยวต่อจีน

ในการกล่าวปราศรัยเมื่อคืนวันพุธที่การประชุมใหญ่พรรครีพับลิกัน (RNC) แวนซ์ได้กล่าวโทษต่อไบเดนว่า เป็นผู้ที่ทำให้การหดตัวลงของภาคอุตสาหกรรม (deindustrialization) สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมของสหรัฐฯ ที่เห็นมาตลอดช่วงชีวิตตน

แวนซ์กล่าวว่า “ประเทศของเรามีแต่สินค้าราคาถูกจากจีน ที่ผลิตโดยแรงงานต่างชาติต้นทุนต่ำ เต็มไปหมด และในทศวรรษข้างหน้า (ก็จะมี) เฟนทานิลจากจีนที่คร่าชีวิตคนอีก” และว่า “โจ ไบเดน ทำพลาดอย่างหนักและชุมชนของผมก็เป็นผู้รับกรรม”

คำพูดของสว.ผู้นี้สะท้อนคำกล่าวหาของทรัมป์ที่ว่า จีนขโมยงานด้านการผลิตไปจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะงานในภูมิภาคแถบตะวันตกตอนกลางของสหรัฐฯ (Midwest) ซึ่งเป็นถิ่นที่แวนซ์เติบโตขึ้นมา

“เราจะปกป้องค่าจ้างของคนงานอเมริกันและหยุดพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ให้สร้างชนชั้นกลางของตนบนหลังของพลเมืองอเมริกัน” แวนซ์กล่าว

ดีน เชน ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จาก Ramapo College ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ให้ความเห็นกับ วีโอเอ ว่า แวนซ์ “สนับสนุนการดำเนินมาตรการจำกัดทางเศรษฐกิจและการเก็บภาษีที่สูงขึ้นต่อสินค้านำเข้าและการลงทุนจากจีน”

เชน คาดว่าท่าทีของแวนซ์ในประเด็นจีนจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มชาตินิยมแบบทรัมป์ในคณะรัฐบาลชุดใหม่ หากได้รับเลือกตั้ง

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG