ย้อนรอยประวัติความขัดแย้งทางการทูตจีน – ไต้หวัน

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นาอูรู ซึ่งเป็นประเทศเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นประเทศล่าสุดที่ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันและให้การรับรองจีน

ทั้งนี้ ไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ต่างแข่งขันกันเพื่อให้ได้การยอมรับทางการทูตมานานหลายปี โดยประเทศส่วนใหญ่มักให้การรับรองจีนแผ่นดินใหญ่ หรือ สาธารณรัฐประชาชนจีน

รอยเตอร์รวบรวมการแข่งขันทางการทูตระหว่างจีนและไต้หวัน นับตั้งแต่รัฐบาลสาธารณรัฐจีน ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของไต้หวัน พ่ายแพ้ในการเหตุการณ์ปฏิวัติคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949

- รัฐบาลสาธารณรัฐจีน หนีจากจีนแผ่นดินใหญ่มายังเกาะไต้หวัน หลังพ่ายแพ้ในเหตุการณ์ปฏิวัติคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949

- รัฐบาลสาธารณรัฐจีนยืนยันว่า ตนเป็นผู้แทนของชาวจีนที่ชอบธรรมทางกฎหมายเพียงหนึ่งเดียว ขณะที่ประเทศที่ไม่เป็นคอมมิวนิสต์หลายประเทศยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับกรุงไทเปแทนกรุงปักกิ่ง

- หลังสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ารับเก้าอี้ของจีนในยูเอ็น เมื่อปี 1971 ประเทศต่าง ๆ ก็ตัดสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวันมากขึ้น แม้แต่สหรัฐฯ เองก็ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันเมื่อปี 1979

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้สหรัฐฯ เป็นชาติผู้สนับสนุนไต้หวันที่สำคัญที่สุด และเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ให้กับกรุงไทเป

- หลังประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ชนะเลือกตั้งในปี 2016 และความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน-จีน ตึงเครียดขึ้น ประเทศต่าง ๆ ก็หันมาเดินหน้าทางการทูตเข้าหาจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน ทักทายสตีเฟน ฮาดลีย์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และเจมส์ สเตนเบิร์ก อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงไทเป ไต้หวัน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2024

- รัฐบาลไต้หวันกล่าวว่า สาธารณรัฐจีน ซึ่งเป็นชื่อทางการของไต้หวัน เป็นประเทศเอกราชที่สามารถดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศอื่น ๆ ได้ และจีนแผ่นดินใหญ่ไม่มีสิทธิ์มาเป็นผู้แทนของตน

- ขณะเดียวกัน รัฐบาลปักกิ่งกล่าวว่า ไต้หวันเป็นเพียงมณฑลหนึ่งของตน และมีเพียงตนเท่านั้นที่เป็นผู้แทนของไต้หวันในระดับนานาชาติได้

- นาอูรู ประเทศเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ประกาศตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน เพียงสองวันหลังไล ชิงเต๋อ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่มองว่าไล ชิงเต๋อ เป็นนักแบ่งแยกดินแดนที่อันตราย

- ไต้หวันกับจีนต่างกล่าวหาอีกฝ่ายว่า ใช้ “การทูตดอลลาร์” โดยการให้แพคเกจการเงินมูลค่ามหาศาลให้กับประเทศต่าง ๆ แลกกับการมีความสัมพันธ์ทางการทูต อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไต้หวันกล่าวว่า ตนไม่ได้ดำเนินการทูตแบบดังกล่าวอีกต่อไป และการมอบความช่วยเหลือของไต้หวันนั้น มีความเหมาะสมกว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่มักเสนอให้หลายประเทศ

- รัฐบาลกรุงไทเปกล่าวว่า ตนให้ความสำคัญกับชาติพันธมิตร ที่มักมีท่าทีสนับสนุนไต้หวันในที่ประชุมยูเอ็น และที่ประชุมนานาชาติอื่น ๆ ที่ไต้หวันเข้าร่วมไม่ได้เนื่องจากแรงกดดันจากจีน

ธงของประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน

- พันธมิตรของไต้หวันในภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียน มีความสำคัญเป็นพิเศษต่อรัฐบาลกรุงไทเป เนื่องจากผู้นำไต้หวันมักอ้างว่า จำเป็นต้องเดินทางผ่านสหรัฐฯ ระหว่างการเดินทางเยือนชาติพันธมิตรเหล่านี้อย่างเป็นทางการ โดยผู้นำไต้หวันมักมีการหารือครั้งสำคัญกับเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ระหว่าง “การแวะพัก” ที่สหรัฐฯ

- สหรัฐฯ แสดงความกังวลถึงท่าทีของประเทศต่าง ๆ ที่ตัดสัมพันธ์กับไต้หวันและเข้าหาจีนแผ่นดินใหญ่แทน โดยสหรัฐฯ มองว่า จีนกำลังขยายอิทธิพลไปยัง “พื้นที่หลังบ้าน” ของสหรัฐฯ อย่างภูมิภาคละตินอเมริกาและภูมิภาคแปซิฟิก

- ไต้หวัน ซึ่งเป็นอดีตเผด็จการที่กำลังมุ่งมั่นสู่ความเป็นประชาธิปไตย กำลังได้รับการสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากชาติพันธมิตรสหรัฐฯ อย่างญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งช่วยบรรเทาจากการที่ไต้หวันสูญเสียชาติพันธมิตรไปหลายชาติ

- มีบางประเทศ เช่น ไลบีเรีย สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ที่เปลี่ยนการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนและไต้หวันมากกว่าหนึ่งครั้ง โดยประเทศสุดท้ายที่กลับมาสานสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันคือเซนต์ลูเชีย เมื่อปี 2007

- ประเทศที่ยังคงมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน ได้แก่ เบลิซ กัวเตมาลา ปารากวัย เฮติ เซนต์คิตส์และเนวิส เซนต์ลูเชีย เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ หมู่เกาะมาร์แชลล์ ปาเลา ตูวาลู เอสวาตินี และนครรัฐวาติกัน

  • ที่มา: รอยเตอร์