Your browser doesn’t support HTML5
ในช่วงเวลาที่สังคมเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยให้ชีวิตเราสะดวกสบายและรวดเร็วทันใจไปเสียหมด จนนำไปสู่ความเครียด และความเสี่ยงของโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งชาวตะวันตกพยายามหาทางออกในหลายรูปแบบ ทั้งการพบจิตแพทย์ รวมทั้งการรักษาทางเลือก ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คือ แนวคิด Mindfulness หรือ สติปัฏฐาน
ชาวตะวันตกให้ความสนใจเรื่องการนั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจ หรือ meditation มาตั้งแต่ปีคริสตศักราช 1968 เมื่อวง the Beatles ได้หยิบยกแนวคิด Transcendental Meditation หรือทำสมาธิแบบล่วงพ้น ที่เริ่มต้นโดยมหาริชี มเหช โยคี โดยนั่งสมาธิไปพร้อมกับท่องคำมันตรา
แต่ mindfulness หรือ สติปัฏฐาน จะมุ่งเน้นที่การพิจารณากำหนดลมหายใจ เริ่มเป็นที่นิยมในสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
ในการประชุม World Economic Forum ที่ดาวอส เปิดให้มีการนั่งสมาธิทุกวัน บริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่ในการจัดอันดับ Fortune 500 เช่น General Motors และ Target มีโครงการให้พนักงานไปปฏิบัติธรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพของพนักงานด้วย
ที่น่าสนใจคือ Silicon Valley มันสมองด้านเทคโนโลยีของโลก กลับเป็นที่แรกที่นำแนวคิดของการนั่งสมาธิมาปรับใช้ก่อนใคร ทั้ง Steve Jobs ได้ใช้แนวคิดแบบ Zen มาเป็นแนวทางในการทำงานของเขา และผู้บริหาร Google สร้าง Search Inside Yourself แนวคิดความฉลาดทางอารมณ์ตามหลักสติปัฏฐาน เพื่อใช้กับพนักงาน Google หลายพันชีวิต
เมื่อหลีกเลี่ยงที่จะพึ่งพาเทคโนโลยีไม่ได้ จึงเกิดแนวคิด Digital Therapy หรือการบำบัดจิตใจผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ที่เราก็สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาจิตใจของเราได้เช่นกัน โดยมีแอพพลิเคชันเกี่ยวกับแนวคิดสติปัฏฐานจากฝั่งตะวันตกที่น่าสนใจ และได้รับความนิยมอย่างมาก
the Mindfulness App แอพฯ ที่มีคลาสการฝึกสมาธิ ที่ทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่น Health ที่มีใน Apple เพื่อตรวจสอบสภาพจิตใจของคุณระหว่างฝึกสมาธิ
Headspace แอพพลิเคชันสำหรับผู้เริ่มต้นฝึกสมาธิ ที่เปิดโอกาสสำหรับผู้ที่ไม่เคยฝึกสมาธิมาก่อนให้มีความเข้าใจและสนใจที่จะฝึกกำหนดจิตใจ ด้วยคลาสฝึกสมาธิ 10 วันสำหรับผู้เริ่มต้นรวมทั้งชวนเพื่อนมาทำสมาธิร่วมกันได้
Calm เหมาะสำหรับผู้ไม่เคยฝึกสมาธิ ได้เริ่มปฏิบัติตั้งแต่ 3 นาที ไปจนถึง 25 นาที พร้อมกับเพลงและบรรยากาศที่ผ่อนคลายให้ผู้ฝึกสมาธิ และยังมีนิทานก่อนนอนสำหรับผู้ใหญ่เพื่อช่วยแก้ปัญหาการนอนไม่หลับด้วย
Stop Breathe & Think ที่จะช่วยบันทึกการฝึกสมาธิ ควบคู่กับตรวจสอบอารมณ์ของผู้ใช้ได้ทั้งวัน ตั้งแต่การนอนหลับ ความเมตตา ความเครียด ความกังวล
และสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลา แนะนำแอพ Simple Habit ที่จะคอยเตือนให้ฝึกสมาธิในเวลาเดิมทุกวัน วันละ 5 นาที หรือมากกว่านั้นก็ได้
นอกจากแอพพลิเคชั่นแล้ว เว็บไซต์ the guardian ยังชี้ถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีความจริงเสมือน หรือ VR ในการรักษาผู้ป่วย เพราะ VR จะเข้าไปช่วยจิตแพทย์ตรวจสอบสภาวะทางจิตของผู้ที่ขอรับคำปรึกษา รวมทั้งช่วยรักษาโรควิตกกังวล หรือ anxiety และภาวะ phobia ต่างๆได้