การประชุมของรัฐมนตรีคลังและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากประเทศสมาชิกกลุ่มจี20 ที่เมืองเบงกาลูรู ทางใต้ของอินเดีย ในวันศุกร์ ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 1 ปีสงครามในยูเครน แสดงให้เห็นถึงความคิดที่แตกแยกกันของประเทศต่าง ๆ ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ในการกล่าวสุนทรพจน์ระหว่างพิธีเปิดการประชุม แจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เรียกร้องให้ประเทศกลุ่มจี20 “เพิ่มกำลังของตนเป็นสองเท่าในการสนับสนุนยูเครนและจำกัดความสามารถของรัสเซียในการทำสงคราม” พร้อมพูดถึงเจ้าหน้าที่รัสเซียที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ว่า การปฏิบัติหน้าที่แทนเครมลินในเวลานี้ทำให้แต่ละคนกลายมาเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการก่อเหตุอันชั่วร้ายของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และชี้ว่า ทุกคนต้อง “รับผิดชอบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ที่สูญสิ้นไปในยูเครนและภัยต่าง ๆ ที่ทั่วโลกต้องประสบตามไปด้วย”
รายงานข่าวระบุว่า รัฐมนตรีคลังรัสเซียไม่ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ โดยมอสโกส่งตัวเจ้าหน้าที่ระดับรองมาร่วมงานแทน
ขณะเดียวกัน อินเดีย ซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนกลุ่มจี20 ในปีนี้ หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียต่อไป หลังจากที่ผ่านมา กรุงนิวเดลีไม่เคยออกมาประณามกรุงมอสโกที่ส่งกองทัพรุกรานยูเครนและไม่เข้าร่วมกับชาติตะวันตกในการดำเนินมาตรการลงโทษมอสโก ทั้งยังเพิ่มระดับการสั่งซื้อน้ำมันรัสเซียด้วย
ในการกล่าวสุนทรพจน์ผ่านระบบวิดีโอคอลล์ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย เพียงแต่ร้องขอให้เหล่าประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ร่วมมุ่งให้การช่วยเหลือ “ประชากรกลุ่มที่มีความเปราะบางที่สุดของโลก” เท่านั้น
ผู้นำอินเดียยังกล่าวด้วยว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 และ “ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายส่วนของโลก” ทำให้ระดับหนี้ในหลายประเทศอยู่ในภาวะที่ควบคุมจัดการได้ยาก ทั้งยังทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกและเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงานด้วย
นายกฯ โมดีกล่าวว่า “ท่านเป็นตัวแทนของผู้นำการเงินและเศรษฐกิจโลก ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจอันรุนแรง” และว่า “เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับท่าน ผู้ทำหน้าที่ดูแลระบบเศรษฐกิจและตลาดชั้นนำ(ของโลก) ที่จะนำพาเสถียรภาพ ความมั่นใจ และการเจริญเติบโตกลับคืนสู่เศรษฐกิจโลก"
ในเวลานี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า การประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มจี20 ที่จะสิ้นสุดลงในวันเสาร์ จะมีบรรลุฉันทามติเกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วมใด ๆ หรือไม่ เนื่องจากจุดยืนที่แตกต่างกันของตัวแทนแต่ละประเทศ
สื่อท้องถิ่นอินเดียรายงานว่า รัฐบาลนิวเดลีไม่ต้องการใช้คำว่า “สงคราม” ในแถลงการณ์ร่วม และต้องการพูดถึงประเด็นความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบันว่าเป็น “วิกฤต” หรือ “ความท้าทาย” แทน แต่หลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ เยอรมนี และอังกฤษ ประกาศย้ำว่า ต้องมีการระบุคำพูดอันชัดเจนเกี่ยวกับการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย
กลุ่มจี20 ซึ่งประกอบด้วยประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเศรษฐกิจเกิดใหม่ ถูกจัดตั้งขึ้นหลังเกิดวิกฤตการเงินเอเชียในปี ค.ศ. 1999 และกลายมาเป็นพื้นที่หารือเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก
ในการประชุมครั้งนี้ คาดกันว่า รัฐมนตรีคลังที่เข้าร่วมจะถกประเด็นผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และสงครามยูเครนที่มีต่อประเทศยากจนที่ประสบปัญหาหนักจากราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูง พร้อม ๆ กับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้ง ประเด็นอื่น ๆ เช่น การปฏิรูปองค์กรต่าง ๆ เช่น ธนาคารโลก รวมทั้งเรื่องของการมาตรการลดภาระหนี้ให้กับประเทศรายได้ต่ำ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการมีส่วนร่วมทางการเงิน ด้วย
- ที่มา: วีโอเอ