สมาชิกพรรคเดโมแครตในรัฐสภาสหรัฐฯ นำเสนอร่างกฎหมายคนเข้าเมืองฉบับใหม่ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งจะช่วยให้ผู้อพยพเข้ามาในสหรัฐฯ สามารถขอสถานะพลเมืองอเมริกันได้อย่างรวดเร็วที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา
ร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอแนวทาง 8 ปีสู่การได้รับสถานะพลเมืองสหรัฐฯ ให้แก่คนที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ จำนวน 11 ล้านคน รวมถึงเพิ่มวีซ่าและงบประมาณสำหรับโครงการรับผู้ลี้ภัยเข้ามาในสหรัฐฯ
นอกจากนี้ยังจะเพิ่มการใช้เทคโนโลยีบริเวณพรมแดนสหรัฐฯ - เม็กซิโก, ขยายการทำงานเพื่อปราบปรามยาเสพติดตามแนวพรมแดน และพยายามขจัดความติดขัดในการขอเข้าประเทศที่พรมแดนสหรัฐฯ
ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังรวมถึงการจัดหากรีนการ์ดให้กับแรงงานภาคการเกษตร, ผู้ได้รับสถานะปกป้องชั่วคราว และคนหนุ่มสาวที่เดินทางเข้ามาในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายพร้อมกับครอบครัวของพวกเขาตั้งแต่ยังเด็ก หรือ Dreamers ให้สามารถอยู่อาศัยและทำงานในสหรัฐฯ ได้อย่างถูกต้อง
ภายใต้ร่างกฎหมายดังกล่าว ผู้ที่อาศัยอย่างผิดกฎหมายในสหรัฐฯ จนถึงวันที่ 1 มกราคมปีนี้ จะสามารถลงทะเบียนขอสถานะชั่วคราวเพื่ออาศัยและทำงานในสหรัฐฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือ กรีนการ์ด ซึ่งจะใช้เวลา 5 ปี หากผ่านการตรวจสอบประวัติ การจ่ายภาษี และมีคุณสมบัติเบื้องต้นครบถ้วน
จากนั้นถ้าบุคคลผู้ถือครองกรีนการ์ดดังกล่าวต้องการขอสถานะพลเมืองสหรัฐฯ ก็จะใช้เวลาอีก 3 ปี ในการทำเรื่องและการสอบสัมภาษณ์ต่าง ๆ ตามขั้นตอน ซึ่งรวดเร็วกว่าขั้นตอนการขอสถานะพลเมืองก่อนหน้านี้
SEE ALSO: โรบินฮู้ดเฮ! 'ไบเดน' เตรียมเสนอเส้นทาง 8 ปีสู่สถานะ 'พลเมืองอเมริกัน'
ร่างกฎหมายนี้เป็นไปตามที่นายไบเดนเคยรับปากไว้กับประชาชนเชื้อสายละตินอเมริกาและชุมชนผู้อพยพกลุ่มอื่น ๆ ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว และถือเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่จากสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งใช้นโยบายแข็งกร้าวต่อผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายตลอด 4 ปีที่ผ่านมา
หากผ่านการรับรองจากรัฐสภาฯ ร่างกฎหมายใหม่ของนายไบเดนจะถือเป็นการให้สถานะพลเมืองอเมริกันอย่างรวดเร็วที่สุดสำหรับผู้ที่อาศัยอย่างผิดกฎหมายในสหรัฐฯ ในขณะนี้
วุฒิสมาชิก บ็อบ เมนเนเดส และ ส.ส.ลินดา ซานเชซ จากพรรคเดโมแครต เป็นผู้นำเสนอร่างกฎหมายนี้ ซึ่งได้รับสนับสนุนจากสมาชิกพรรคเโมแครตในรัฐสภารวม 12 คน
อย่างไรก็ตาม ส.ว.พรรครีพับลิกันบางคนออกมาคัดค้านข้อเสนอส่วนใหญ่ในร่างกฎหมายนี้ โดยระบุว่าจะเป็นการทำร้ายแรงงานอเมริกันที่ประสบความยากลำบากจากวิกฤติด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจอยู่แล้วในปัจจุบัน