ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นโยบายเพิ่มเพดานรับผู้ลี้ภัยของ 'ไบเดน' อาจไม่ง่ายในทางปฏิบัติ


Biden Immigration Revamp
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:01 0:00

ในช่วงเดือนแรกของการทำงานในทำเนียบขาว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามในคำสั่งผู้นำฝ่ายบริหารหลายฉบับเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโยบายคนเข้าเมืองจากสมัยประธานาธิบดีทรัมป์

อย่างไรก็ตาม ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเตือนว่า การผ่อนคลายนโยบายรับคนเข้าเมืองคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะในช่วงนี้ ด้วยเหตุผลที่สำคัญหลายด้านด้วยกัน

โดยปกติแล้ว เพดานหรือโควต้าการรับผู้ลี้ภัยคือตัวเลขสูงสุดที่สหรัฐฯ สามารถรับผู้ลี้ภัยจากต่างประเทศให้เข้าไปตั้งถิ่นฐานใหม่ได้ในแต่ละปี โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นผู้กำหนดตัวเลขดังกล่าวก่อนเริ่มปีงบประมาณใหม่คือวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี และส่งแผนนี้เพื่อการพิจารณาอนุมัติจากสภา

สำหรับในปีงบประมาณใหม่ที่จะมาถึงนี้ รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนตั้งเป้าไว้ว่าจะรับผู้ลี้ภัยชาวต่างชาติได้ไม่เกิน 125,000 คน ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจาก 15,000 คนในช่วงปีสุดท้ายของประธานาธิบดีทรัมป์หลายเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มซึ่งทำงานช่วยผู้ลี้ภัยเตือนว่า การจะเปลี่ยนทิศทางจากการลดจำนวนและจำกัดคุณสมบัติของผู้ลี้ภัยตามนโยบายเดิมของประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งได้ทำให้การรับผู้ลี้ภัยของสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปีนั้น จะไม่สามารถเกิดขึ้นง่าย ๆ ด้วยการตั้งเป้าตัวเลขเท่านั้น แต่จะต้องใช้ทั้งเวลาและทรัพยากรเพิ่มเติมหลายด้านด้วยกัน

คุณคริสโตเฟอร์ โบเอียน เจ้าหน้าที่สื่อสารอาวุโสของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ได้ชี้ว่า ปัญหาท้าทายเกี่ยวกับเรื่องนี้มีหลายด้านด้วยกัน นับตั้งแต่การจัดหางบประมาณ การจ้างเจ้าหน้าที่ และการทำให้กระบวนการที่ต้องหยุดชะงักไปกลับมาเริ่มได้ใหม่อีกครั้ง แต่ดูเหมือนว่าปัญหาท้าทายสำคัญที่สุดขณะนี้คือเรื่องการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะมีผลต่อการเดินทางและต่อกระบวนการคัดกรอง

ส่วนองค์การด้านศาสนาที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการช่วยให้ผู้ลี้ภัยตั้งถิ่นฐานและปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ในอเมริกาได้ กล่าวว่า การรื้อฟื้นงานด้านนี้ขึ้นใหม่จะไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะปัญหามีทั้งในแง่การจ้างเจ้าหน้าที่ซึ่งส่วนใหญ่ได้ถูกปลดออกจากงานในช่วงสี่ปีของประธานาธิบดีทรัมป์

Blanca Cedillos, left, a nanny from El Salvador, watches President Joe Biden's swearing-in ceremony at the Workers Justice Center, an immigrants rights organization, in Brooklyn in New York, Jan. 20, 2021.
Blanca Cedillos, left, a nanny from El Salvador, watches President Joe Biden's swearing-in ceremony at the Workers Justice Center, an immigrants rights organization, in Brooklyn in New York, Jan. 20, 2021.

การขอต่อใบอนุญาตทำงานสำหรับสำนักงานภาคสนามต่าง ๆ รวมทั้งการกลับมาสร้างเครือข่ายของหน่วยงานบริการด้านสังคมเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมใหม่ได้ และงานเหล่านี้นอกจากจะต้องอาศัยความสามารถด้านภาษาต่าง ๆ อย่างหลากหลายแล้ว ยังต้องการคนที่มีความเข้าใจด้านวัฒนธรรม รวมทั้งคนที่ละเอียดอ่อนและตระหนักรู้เรื่องบาดแผลและความเจ็บปวดของผู้ลี้ภัย และเหตุผลซึ่งทำให้คนเหล่านี้ต้องตัดสินใจละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนของตนด้วย

ปัญหาท้าทายอีกด้านหนึ่งมาจากกลุ่มที่สนับสนุนนโยบายคนเข้าเมืองที่แข็งกร้าวของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งเตือนว่าไม่ควรยกเลิกนโยบายที่เข้มงวดของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดก่อน เพราะการตรวจสอบภูมิหลังและการคัดกรองผู้ลี้ภัยอย่างเข้มข้นนั้นเป็นเรื่องจำเป็นด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง

อย่างเช่น คุณลอร่า ไรย์ นักวิจัยอาวุโสของ Heritage Foundation เตือนว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไม่ควรยกเลิกมาตรการคัดกรองที่เข้มงวดของรัฐบาลชุดก่อนเพียงเพราะว่านโยบายเหล่านั้นมาจากประธานาธิบดีทรัมป์เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม คุณคริส โอมารา วิกนาราจาห์ ซีอีโอของหน่วยงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชื่อ Lutheran Immigration and Refugee Service เห็นว่าการคัดกรองผู้ลี้ภัยอย่างถี่ถ้วนก็ยังมีอยู่ต่อไป และว่า ความเชื่อที่ว่าผู้ลี้ภัยมักเป็นอาชญากรหรือผู้ก่อการร้ายนั้นไม่ใช่เรื่องจริง เพราะโดยทั่วไปแล้วผู้ลี้ภัยมีโอกาสสร้างปัญหาอาชญากรรมน้อยกว่าคนอเมริกันที่เกิดอเมริกาเสียอีก

แต่ไม่ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่จะตั้งเป้าว่าจะเพิ่มเพดานการรับผู้ลี้ภัยให้สูงขึ้นเพียงใดก็ตาม ผลการสำรวจโดย Morning Consult/Politico Survey เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ก็ให้ภาพว่า ในบรรดาคนอเมริกันผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเกือบ 2,000 คนที่ตอบคำถามนั้น ราว 60% ของผู้ที่ระบุตัวเองว่าเป็นชาวรีพับลิกัน ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการเพิ่มเพดานการรับผู้ลี้ภัยเป็น 125,000 คนต่อปี

ในขณะที่ 61% ของชาวพรรคเดโมแครตสนับสนุนให้เพิ่มการรับผู้ลี้ภัย และในจำนวนนี้ 33% เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการเพิ่มโควต้ารับผู้ลี้ภัยประจำปี

XS
SM
MD
LG