‘ดีพเฟค’ เทคโนโลยีทรงพลังในสงครามข่าวปลอม

This image made from video of a fake video featuring former President Barack Obama shows elements of facial mapping used in new technology that lets anyone make videos of real people appearing to say things they've never said. (AP Photo)

Your browser doesn’t support HTML5

‘ดีพเฟค’ เทคโนโลยีทรงพลังในสงครามข่าวปลอม

ขณะนี้มีการจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อการใช้ข่าวสารที่บิดเบือนเป็นอาวุธในสงครามจิตวิทยา ที่หวังผลสร้างความไม่เชื่อใจในตัวบุคคลสำคัญ ใส่ร้ายป้ายสี และก่อความปั่นป่วน

และอาวุธด้านข่าวกำลังทรงพลังมากขึ้น เมื่อผู้ปล่อยข้อมูลเท็จสามารถสร้างสื่อวิดีโอที่แสดงภาพบุคคลสำคัญพูดหรือแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมได้เหมือนตัวจริง

เครื่องมือตบตาผู้รับสารที่แนบเนียนนี้เรียกว่า ‘Deepfake’ ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีภูมิปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่เดิมทีถูกสร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบความคิดของมนุษย์ และกำลังถูกพัฒนาให้สามารถเลียนแบบพฤติกรรม น้ำเสียง และท่วงทำนองการพูดได้ด้วย

ไม่นานนี้สื่อ BuzzFeed นำภาพและเสียง ผู้เลียนแบบประธานาธิบดีโอบามาผ่านเทคโนโลยี ‘Deepfake’ มาเผยแพร่บน Youtube

ไม่เพียงแต่เสียงที่เหมือน แต่ภาพที่เห็นก็คือประธานาธิบดีโอบามาที่ถูกผสมผสานด้วยการเลียนแบบโดยคอมพิวเตอร์ ทั้งการขยับปากและเสียง ซึ่งกำลังให้คำเตือนถึง ภัยจาก ‘Deepfake’ ทั้งที่ตัวจริงของอดีตผู้นำสหรัฐฯ ไม่เคยพูดข้อความเหล่านี้ออกอากาศเลย

แม้คลิปดังกล่าวมีส่วนที่เป็นมุขตลก แต่หากว่า ‘Deepfake’ ถูกใช้ในการสร้างสถานการณ์ลวง เช่น การประกาศข่าวเตือนภัย หรือ การกล่าวคำเหยียดเชื้อชาติสีผิว ผลของข่าวเท็จหรือ fake news ก็จะมีความร้ายแรงน่ากังวลยิ่ง

ในขณะเดียวกัน หน่วยงานของสหรัฐฯ ที่ชื่อ Defense Advanced Research Projects จึงริเริ่มโครงการพัฒนาเทคโนโลยีจับเท็จจากภาพและวิดีโอที่มีการตัดต่อแนบเนียน ซึ่งเหลือเวลาอีก 2 ปี ตามระยะเวลาของโครงการ 4 ปี

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อนเร็วๆ นี้ คือการเลือกตั้งกลางเทอมของรัฐสภาสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้

Hany Farid ผู้เชี่ยวชาญการสืบพิสูจน์ทางดิจิทัล แห่งมหาวิทยาลัย Dartmouth College ของสหรัฐฯ กล่าวว่า น่าจะเห็นการใช้เทคโนโลยี ‘Deepfake’ ในช่วงการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกสองปีจากนี้

วุฒิสมาชิก Marco Rubio ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภา แสดงความกังวลต่อภัยของเทคโนโลยี ‘Deepfake’ ที่อาจทำให้เกิดข่าวเท็จในรูปแบบวิดีโอ ซึ่งสร้างความโกลาหลและความมั่งคงในช่วงเวลาที่สำคัญ รวมถึงก่อนการเลือกตั้งได้

แม้ปัจจุบัน การดูคลิปอย่างละเอียดอาจสามารถจับเท็จจากวิดีโอที่ถูกสร้างขึ้นโดย ‘Deepfake’ ได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อีกหนึ่งถึงสองปีจากนี้ความแนบเนียนของเทคโนโลยีที่ว่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

(รายงานโดย Associated Press/ รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)