การศึกษาทดลองวิธีรักษาโควิดรูปแบบใหม่ภายใต้ชื่อ TOGETHER Trial คือ กระบวนการที่ให้ผู้เชี่ยวชาญทดลองคุณสมบัติเสริมของยาที่ได้รับการอนุมัติและวางจำหน่ายแล้วว่าสามารถรักษาโควิดได้หรือไม่ นักวิจัยจากประเทศแคนาดาและบราซิลชี้ว่าการทดลองด้วยวิธีนี้ข้างต้นนี้มีผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ซ้ำยังสามารถทั้งลดระยะเวลาค้นคว้า ค่าใช้จ่ายและจำนวนอาสาสมัครที่เข้าทดลองอีกด้วย
หนึ่งในการทดลองที่เริ่มขึ้นประเทศบราซิลตั้งแต่กลางปี 2020 พบว่า ยาฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine) ที่ปกติแล้วนั้นมีคุณสมบัติช่วยลดความซึมเศร้าในผู้ป่วย สามารถช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโควิดได้ถึง 32%
เอ็ด มิลล์ นักระบาดวิทยาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัย Ontario’s McMaster University ในประเทศแคนาดา ผู้ช่วยทำหน้าที่ประสานงานโครงการศึกษานี้จากสำนักงานต่างๆ ในนครแวนคูเวอร์ อธิบายให้ วีโอเอ เข้าใจถึงความแตกต่างของการทดลองทางคลินิก (clinical trial) กับ วิธีของ TOGETHER Trial ซึ่งจัดว่า เป็นโมเดลการทดลองแบบใหม่ที่ศึกษาประโยชน์เสริมของยาหลายๆตัวภายในเวลาเดียว ว่า “ปกติแล้ว ในการวิจัยในคนแบบทั่วไปจะเป็นศึกษาประสิทธิผลของยาจริงโดยเทียบกับยาหลอก (Placebo) แต่ในวิธีใหม่ของเรานั้น เราศึกษาและเทียบยาถึง 5 หรือ 6 ตัวภายในเวลาเดียวกับการให้กับยาหลอกได้”
มิลล์ กล่าวต่อด้วยว่าว่า ยาเพกอินเตอร์ฟีรอน แลมบ์ดา (peginterferon lambda) ที่ทางทีมผู้ค้นคว้ากำลังศึกษาอยู่นั้นแสดงผลพันธ์ในการรักษาโควิดได้น่าพอใจ ซึ่งต่อไป ทางทีมผู้ค้นคว้าจะเริ่มผสมยาที่รักษาโควิดได้ผสมเข้ากับยาตัวอื่นๆและศึกษาดูประสิทธิผล
นอกจากนี้ ประโยชน์หลักอีกข้อของการทดลองรูปแบบใหม่นั้นคือการค้นพบว่า อะไรบ้างที่ไม่มีประสิทธิผลจริงในการป้องกันโควิด เช่น ผู้เชี่ยวชาญค้นคว้าด้วยวิธี TOGETHER Trial พบว่า ยาไฮโดรคลอโรควิน (hydroxychloroquine) ยาโลปินาเวียร์ (lopinavir) ยาเมทโฟมิน metformin ยาดอกซาโซซิน (doxazosin) และยาไอเวอร์เมคติน (ivermectin) ไม่สามารถลดอาการโควิดลงจนทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องนอนโรงพยาบาลได้จริง
ทั้งนี้ ยาไฮโดรคลอโรควินและไอเวอร์เมคติได้รับความสนใจจากผู้คนในสหรัฐฯมากขึ้น หลังผู้ป่วยโควิดบางคนยืนกรานว่า การกินยาสองตัวนี้ช่วยพวกเขารักษาอาการโควิดได้ แต่ข้อมูลนี้ขัดกับคำเตือนของเจ้าหน้าสาธารณสุขในสหรัฐฯ ที่ระบุชัดเจนว่า ยาทั้งสองไม่มีประสิทธิผลใดๆ ในการรักษาโควิด
นายแพทย์ ไบร์อัน คอนเวย์ หัวหน้าการวิจัยทางการแพทย์แห่งศูนย์ Vancouver Infectious Diseases Centre ชี้ว่า รูปแบบการวิจัยแบบ TOGETHER Trial สามารถนำไปใช้ในการศึกษาค้นคว้าวิธีการรักษาผู้ป่วยในอนาคตได้ดีและสามารถช่วยลดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จได้
เอ็ด มิลล์ นักระบาดวิทยากล่าวด้วยว่า ประเทศกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาที่มักตั้งอยู่ทางตอนใต้ของโลก (Global South) สามารถสอนและให้ความรู้วิธีควบคุมโรคติดต่อต่างๆ ให้แก่ประเทศโซนเหนือของโลก (Global North) ที่จัดว่าพัฒนาแล้ว
นักระบาดวิทยาผู้นี้อธิบายแม้ประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะเป็นผู้ตั้งกฎการควบคุมการระบาด แต่ประเทศทางโซน Global South ต่างหากที่มีประสบการณ์จริงในการเผชิญการระบาดต่างๆ และการนำวิธีควบคุมการแพร่มาใช้
เขากล่าวว่า “ลองนึกถึงประเทศรวันดาเป็นตัวอย่าง ประเทศนี้จับตาดูการแพร่เชื้อไวรัสอีโบล่าตลอดเวลา ควบคู่กับโรคมาเลเรียและเชื้อไวรัส HIV ด้วย (เจ้าหน้าที่ในประเทศนี้) จึงมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในการควบคุมโรคระบาดมาก”
ท้ายสุด รายงานการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา มีบทบาทในด้านงานวิจัยและพัฒนาให้กับแวดวงงานระบาดวิทยาอีกครั้ง เพราะนอกเหนือจาก TOGETHER Trial แล้ว การพัฒนาเทคโนโลยีวัคซีนแบบ MRNA ที่บริษัทยา Pfizer และ Moderna ใช้ในการคิดค้นยาต้านโควิดนั้นก็ถูกค้นพบขึ้นครั้งแรกในช่วงปลายยุค 70 ที่มหาวิทยาลัย British Columbia ที่ตั้งอยู่ในเมืองนี้อีกด้วย