บทวิเคราะห์วิกฤตโควิด-19 ชี้ สถานการณ์ทั่วโลกยังอยู่ในภาวะเสี่ยงสูง

Oliver Estrada, 5, receives the first dose of the Pfizer COVID-19 vaccine at an Adelante Healthcare community vaccine clinic at Joseph Zito Elementary School, Nov. 6, 2021, in Phoenix, Arizona.

บทวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ล่าสุดที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ออกมาชี้ว่า ทั่วโลกยังคงอยู่ในภาวะเสี่ยงสูงจากวิกฤตสาธารณสุขที่ดำเนินมาเกือบ 2 ปีนี้

สำนักข่าว รอยเตอร์ เปิดเผยบทวิเคราะห์ที่ระบุว่า ในช่วงปีแรกของการระบาด ตัวเลขผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสทั่วโลกนั้นอยู่ที่ระดับ 50 ล้านคน แต่ปัจจุบัน อัตราการติดเชื้อนั้นอยู่ที่ 50 ล้านคนทุกๆ 90 วัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร้ายแรงของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่ติดต่อกันได้ง่ายดาย

รอยเตอร์ รายงานว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในรัสเซีย ยูเครน และกรีซ “อยู่ที่ หรือเกือบถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่การระบาดใหญ่ทั่วโลกเริ่มต้นเมื่อ 2 ปีก่อน” ขณะที่ อัตราผู้ติดเชื้อใหม่กำลังพุ่งขึ้นใน 55 ประเทศจากทั้งหมด 240 ประเทศ

ในวันจันทร์ เยอรมนีเพิ่งรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่มา โดยสถาบัน โรเบิร์ต โคช เปิดเผยการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ในอัตรา 201.1 คน ต่อการตรวจหาเชื้อทุกๆ 100,000 คน ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มจากสถิติก่อนหน้าที่ 197.6 ต่อ 100,000 คน ขณะที่ สำนักข่าว เอเอฟพี ของฝรั่งเศส รายงานว่า อัตราการติดเชื้อในรัฐแซกโซนี ทางภาคตะวันออกของเยอรมนี พุ่งขึ้นในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศถึงกว่าเท่าตัว ที่ 491.3 ต่อ 100,000 คนแล้ว

นอกจากนั้น สำนักข่าว รอยเตอร์ ยังเปิดเผยรายงานข่าวเชิงสืบสวนที่ชี้ว่า สถิติการฉีดวัคซีนนั้นมีความไม่เท่าเทียมกันสูงมาก เนื่องจากประชากรกว่าครึ่งหนึ่งจากทั่วโลก ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกเลย และมีประชากรไม่ถึง 5% ในประเทศรายได้ต่ำที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม

ขณะเดียวกัน นิตยสาร ดิ อิโคโนมิสต์ (The Economist) เปิดเผยว่า สถิติตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในบางประเทศนั้นน่าจะสูงกว่าที่รัฐบาลแต่ละแห่งรายงานออกมาอยู่หลายเท่า เนื่องจากเหตุผลหลายประการ อาทิ การประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง หรือไม่ก็เป็นเพราะ บางประเทศไม่นับรวมตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ไม่เคยได้ตรวจหาเชื้อและมีผลตรวจเป็นบวกก่อนเสียชีวิต รวมทั้ง การที่ทั้งโรงพยาบาลและรัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งออกมรณบัตรล่าช้าไปมาก และยังมีกรณีของผู้ที่เสียชีวิตที่บ้านเพราะโคโรนาไวรัสแต่ไม่ได้มีการรายงานไปยังหน่วยงานรัฐ เป็นต้น