ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไฟเซอร์ เผย ยาเม็ดต้านโควิด-19 ของตนช่วยลดความเสี่ยงอาการป่วยรุนแรงได้ 89%


FILE - This Feb. 5, 2021, file photo shows the Pfizer logo displayed at the company's headquarters in New York.
FILE - This Feb. 5, 2021, file photo shows the Pfizer logo displayed at the company's headquarters in New York.

บริษัทยา ไฟเซอร์ (Pfizer) ประกาศในวันศุกร์ว่า ผลการทดลองทางคลินิกชี้ว่า ยาเม็ดต้านโควิด-19 ที่ตนพัฒนาขึ้นมาใหม่นั้นสามารถลดความเสี่ยงอาการป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัสจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ถึง 89% พร้อมเผยแผนเตรียมยื่นเรื่องขออนุมัติการใช้ยาดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินต่อหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ในเร็วๆ นี้

ในคำแถลงที่ได้รับการเปิดเผยออกมาในวันศุกร์ตามเวลาในสหรัฐฯ ไฟเซอร์ ระบุว่า ผลการทดสอบประสิทธิภาพของยา แพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) ที่บริษัทผลิตนั้น มาจากการทดลองทางคลินิกแบบสุ่มและ double-blind ซึ่ง คือการที่ผู้เข้าร่วมการวิจัยหรือผู้ทดลองไม่ทราบว่าใครได้รับการรักษาเป็นพิเศษ ในกลุ่มคนไข้โควิด-19 ที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลแต่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยหนักขึ้นจนถึงขั้นรุนแรง

ไฟเซอร์ กล่าวว่า บริษัทยังได้รับคำแนะนะจากคณะกรรมการอิสระที่ทำหน้าที่รวบรวมตรวจสอบข้อมูล ให้พักการทดลองยาในเฟสที่ 3 ไว้ก่อน เนื่องจากผลการทดสอบล่าสุดที่ออกมาแสดงประสิทธิผลของตัวยาที่สูงมากแล้ว

ทั้งนี้ บริษัทยาสัญชาติอเมริกันแห่งนี้มีแผนจะนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการทดลองทั้งหมดเพื่อยื่นขออนุมัติการใช้ยานี้เป็นการฉุกเฉินต่อสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในเวลานี้ ไฟเซอร์ เป็นบริษัทยาแห่งที่ 2 ที่สามารถพัฒนายาเม็ดเพื่อรักษาการป่วยโรคโควิด-19 ได้ หลังบริษัท เมอร์ค (Merck) ซึ่งเป็นธุรกิจสัญชาติอเมริกันเช่นกันเปิดตัวยาเม็ดต้านโควิด-19 ของตนออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว พร้อมผลการทดลองทางคลินิกที่ระบุว่า มีประสิทธิภาพลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับเชื้อได้ถึงราว 50% ก่อนจะยื่นเรื่องขออนุมัติการใช้ในกรณีฉุกเฉินต่อ FDA ซึ่งมีกำหนดจะประกาศการพิจารณาออกมาในช่วงปลายเดือนนี้

ปัจจุบัน ยาที่ใช้รักษาโควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลทั้งหลายนั้นเป็นประเภทที่ต้องฉีดหรือให้ผ่านทางสายน้ำเกลือ ขณะที่ ยาแบบเม็ดที่ยังไม่มีการนำมาใช้งานนั้น มีข้อดีในด้านการแจกจ่ายให้แก่ประชาชนได้สะดวกกว่า เนื่องจากสามารถรับยาจากร้านขายยาดเพื่อนำไปรักษาที่บ้านเองได้

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลกิจการเกี่ยวกับยาของอังกฤษ เพิ่งอนุมัติยาต้านโควิด-19 โมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) ของบริษัท เมอร์ค (Merck) ไป ขณะที่ องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) เปิดเผยว่า จะเร่งการตรวจสอบพิจารณาคำขอของบริษัทยาสัญชาติอเมริกันแห่งนี้ โดยจะออกคำแนะนำให้กับประเทศสมาชิกทั้งหลายให้ตัดสินใจอนุมัติการใช้ยาเม็ดของ เมอร์ค แบบฉุกเฉินเอง โดยไม่ต้องรอผลการตัดสินของทางหน่วยงานด้วย

XS
SM
MD
LG