Your browser doesn’t support HTML5
หน่วยงานสอดส่องปัญหาคอร์รัปชั่น Transparency International เปิดเผยรายงานดัชนีสะท้อนภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชั่นของแต่ละประเทศ
ผู้จัดทำดัชนี Corruption Perception กล่าวว่าผู้นำที่เน้นแนวทางประชานิยม และสัญญาว่าจะปราบคอร์รัปชั่น กลับมีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้ปัญหานี้ย่ำแย่ลง
Jose Ugaz ประธานของ Transparency International กล่าวว่าในประเทศที่มีผู้นำเผด็จการ หรือที่ดำเนินแนวทางประชานิยม ผู้เก็บข้อมูลเห็นว่าประชาธิปไตยของประเทศเหล่านี้มักถูกลดทอน และเห็นสัญญาณที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ว่า ภาคประชาสังคมถูกปราบปราม เสรีภาพสื่อถูกจำกัด และระบบตุลาการอ่อนแอลง
เขากล่าวว่าผู้นำเหล่านี้มักไม่แก้ปัญหาที่เกิดจากลัทธิทุนนิยมที่เกื้อหนุนคนใกล้ชิด แต่กลับใช้ระบบที่ทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่นย่ำแย่ลงไปอีก
สำหรับทางแก้ เขากล่าวว่ารัฐบาลควรแก้ที่รากเหง้าของปัญหา เช่น การตัดสายสัมพันธ์ผลประโยชน์ระหว่างธุรกิจและการเมือง และสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้น
ดัชนี Corruption Perception ปี ค.ศ. 2016 ที่ถูกเปิดเผยในวันพุธ ได้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลการทำสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศที่ถูกรวมอยู่ในรายงานฉบับนี้
ประเทศที่มีภาพลักษณ์โปร่งใสที่สุดคือเดนมาร์กและนิวซีแลนด์ ซึ่งได้คะแนน 90 เท่ากัน ตามมาด้วยฟินแลนด์และนอร์เวย์ที่มีคะแนน 89 และ 88 ตามลำดับ
ประเทศในเอเชียที่ได้คะแนนสูงสุดคือ สิงคโปร์ที่อยู่อันดับ 7 กับคะแนน 84
ประเทศที่รั้งท้าย ซึ่งหมายความว่ามีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นย่ำแย่ที่สุดคือโซมาเลียได้ 10 คะแนน ส่วนที่อยู่ท้ายๆตารางเช่นกันคือซูดานใต้ เกาหลีเหนือ และซีเรียกับคะแนน 11, 12 และ 13 ตามลำดับ
สำหรับประเทศไทยอยู่อันดับ 101 จากทั้งหมด 176 ลำดับ ด้วยคะแนน 35 ซึ่งลดลงจากปีก่อน 3 แต้ม โดยที่รายงานล่าสุดนี้ ไทยคะแนนเท่ากับฟิลิปปินส์และติมอร์เลสเต้
Transparency International กล่าวว่า บางประเทศต้องรอดูต่อไปว่าปัญหาคอร์รัปชั่นจะดีขึ้นหรือแย่ลงภายใต้ผู้นำคนใหม่ นั่นรวมถึงฟิลิปปินส์ที่ประชาชนเลือกตั้งให้ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต้ เป็นผู้นำประเทศเมื่อปีที่แล้ว
ด้านหนึ่งนายดูเตอร์เต้ได้แรงสนับสนุนจากประชาชนจากคำมั่นที่ตนต้องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น แต่ขณะเดียวกันเขาใช้นโยบายโจมตีสื่อและการข่มขู่ที่อาจประทบต่อสถาบันทางประชาธิปไตยได้
(รายงานโดย Chris Hannas / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)