Your browser doesn’t support HTML5
ขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลในเอเชียแปซิฟิก กำลังเข้าทำลายแนวปะการัง แหล่งระบบนิเวศน์อันหลากหลายใต้ท้องทะเล ซ้ำเติมความเสียหายจากภาวะโลกร้อน การประมงที่เกินขีดจำกัด รวมทั้งมลภาวะทางน้ำประเภทอื่นๆ
ครอบคลุมตั้งแต่ประเทศไทยไปจนถึงแนวปะการัง Great Barrier Reef ในออสเตรเลีย
โจลีอาห์ แลมบ์ หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ร่วมมือกับทีมนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ไทย เมียนมา แคนาดา และอินโดนีเซีย ลงพื้นที่สำรวจแนวปะรัง 159 แห่งทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตั้งแต่ปี 2554-2557
ทีมวิจัยพบกับขยะพลาสติกราว 11,100 ล้านชิ้น มีทั้งรูปแบบของถุงพลาสติกจากห้างร้าน แห อวน ถุงชา หรือแม้กระทั่งผ้าอ้อมเด็ก ที่เกาะอยู่ตามแนวปะการัง อีกทั้งยังคาดการณ์ว่า ปริมาณขยะพลาสติกจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 40 ในอีก 7 ปีข้างหน้า
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ชี้ว่า ยิ่งพื้นที่ใดมีปริมาณขยะพลาสติกมาก ก็จะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคบนแนวปะการังได้ถึง 20 เท่าตัว เมื่อเทียบกับแนวปะการังในแหล่งน้ำที่ไม่มีขยะเลย ซึ่งมีผลการวิจัยที่คล้ายกันในแนวปะการังในแถบแคริบเบียนและแอฟริกา
เนื่องจากขยะพลาสติกเหล่านี้จะเข้าทำลายสัตว์น้ำขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง ขณะเดียวกันขยะเหล่านี้จะกลายเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อแหล่งน้ำอีกทางหนึ่งด้วย
ในการวิจัยครั้งนี้ พบว่า แนวปะการังในอินโดนีเซียมีปริมาณขยะพลาสติกหนาแน่นที่สุด ขณะที่ออสเตรเลียมีปริมาณขยะในแหล่งน้ำต่ำสุด เนื่องมาจากมาตรการควบคุมปริมาณขยะที่เข้มงวด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนลต้องการผลักดันให้มีการใช้มาตรการที่เข้มงวดในการแก้ปัญหาขยะในแหล่งน้ำและแนวปะรัง
โดยเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เกือบ 200 ประเทศทั่วโลก ร่วมลงนามความร่วมมือในการจำกัดปริมาณขยะพลาสติกในแหล่งน้ำทั่วโลก เนื่องจากมีคำเตือนออกมาว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ปริมาณขยะพลาสติกในแหล่งน้ำจะมีน้ำหนักรวมมากกว่าปริมาณปลาในทะเลทั่วโลกในไม่ช้า