Your browser doesn’t support HTML5
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผิดธรรมชาติ ทำให้สิ่งมีชีวิตมากมายต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับความผันแปรของสภาพอากาศ แต่บางครั้งก็อาจไม่ทันการณ์ เมื่อล่าสุดมีรายงานจากหน่วยงานอนุรักษ์ปลาและสัตว์ป่าของมลรัฐฟลอริดา (Florida Fish and Wildlife Commission) เผยข้อมูลที่น่ากังวลถึงความเป็นไปของพะยูนแมนนาที สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่และเคลื่อนที่ได้ช้า ซึ่งอาศัยอยู่ในน่านน้ำของรัฐฟลอริดา ตายไปมากถึง 974 ตัว อ้างอิงจากสถิติที่เก็บข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา
หน่วยงานด้านการอนุรักษ์ปลาและสัตว์ป่าของรัฐฟลอริดาดังกล่าวระบุว่าเฉพาะจนถึงช่วงกลางเดือนตุลาคมปีนี้ พะยูนแมนนาทีตายไปแล้วมากกว่าสองเท่าตัวเมื่อเทียบกับตัวเลขทั้งปีของปีที่แล้ว และตัวเลขการตายนี้คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 10% ของประชากรพะยูนแมนนาทีในรัฐฟลอริดา โดยถือเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่มีการบันทึกมา อีกทั้งยังแสดงความกังวลว่า ฤดูหนาวและสภาพอากาศเย็นจัดที่คืบคลานเข้ามา จะนำไปสู่การตายของเหล่าพะยูนแมนนาทีระลอกใหม่ด้วย
สำหรับสาเหตุการตายของพะยูนแมนนาที หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐฟลอริดา ชี้ว่า ไม่ได้มีปริศนาอะไรซ่อนอยู่ เพราะตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารหลักของพะยูนแมนนาทีมีสัดส่วนที่ลดลงต่อเนื่อง และจากการชันสูตรพะยูนที่ตายไปในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ พบว่า สาเหตุการตายมาจากการขาดอาหารเป็นส่วนใหญ่
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่า หญ้าทะเลที่ลดลง เป็นผลมาจากคุณภาพน้ำที่ย่ำแย่ลงไปซึ่งเป็นผลมาจากมนุษย์ เช่น น้ำเสียจากปุ๋ย การปล่อยน้ำเสียโดยทั่วไป และมลพิษต่างๆ ที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งทางการฟลอริดา ประเมินว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2009 ปริมาณหญ้าทะเลที่เป็นอาหารหลักของพะยูนแมนนาที ลดลงถึง 58% ในพื้นที่บริเวณ Indian River Lagoon ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยหลักของพะยูนแมนนาที ตามรายงานของเอพี
ในปีนี้ ทางการฟลอริดา ผ่านงบประมาณ 8 ล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นกองทุนสำหรับการฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูนแมนนาที ซึ่งบริหารงานโดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯและส่วนท้องถิ่น แต่ทางหน่วยงานอนุรักษ์ปลาและสัตว์ป่าแห่งมลรัฐฟลอริดา เรียกร้องให้ทางการอนุมัติงบประมาณเพิ่มอีก 7 ล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการฟื้นฟูหญ้าทะเลในพื้นที่ การจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูพะยูนแมนนาที และโครงการอนุรักษ์สัตว์อื่นๆ เพิ่มเติม
พะยูนแมนนาที ในฟลอริดา เป็นที่รู้จักจากรูปร่างกลมใหญ่คล้ายพะยูน แต่มีหางกลมแบน เป็นสายพันธุ์ที่ใกล้ที่สุดของช้าง มีลำตัวยาวมากกว่า 3 เมตรหากโตเต็มวัย มีน้ำหนักมากถึง 550 กิโลกรัม และมีอายุยืนยาวถึง 65 ปี
อีกด้านหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย ได้เปิดตัวลูกอ๊อดสายพันธุ์ใหม่ ที่เป็นการผสมข้ามสายพันธุ์ในห้องทดลองระหว่างกบในเขตพื้นที่ชุ่มชื้นกับกบในเขตแห้งแล้งทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เพื่อให้กบสายพันธุ์ใหม่นี้มีความทนทานต่อสภาพอากาศแปรปรวนได้มากขึ้น
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย University of Western Australia ดึงลักษณะเด่นทางพันธุกรรมของกบพันธุ์หนึ่งที่เรียกว่า crawling frog ซึ่งสามารถมีชีวิตรอดในภูมิประเทศที่มีฝนตกน้อย โดยใช้สเปิร์มและไข่ของกบ crawling frog 4 สายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในสภาพอากาศที่แห้งแล้งแตกต่างกันในออสเตรเลียมาทดสอบผสมข้ามสายพันธุ์กับกบซึ่งอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ชุ่มชื้นกว่า
ความพยายามของทีมนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลีย ในการสร้างกบสายพันธุ์ใหม่ที่มีความสามารถในการปรับตัวรับภาวะโลกร้อน และมีความทนทานต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้งนี้ ถือเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกของโลก ที่ได้รับการนำเสนอในวารสารวิทยาศาสตร์ Communications Biology
โจดี โรว์ลีย์ (Jodi Rowley) หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์จากโครงการนักวิทย์พลเมืองของ Australian Museum และผู้เชี่ยวชาญด้านกบ เชื่อว่า กบต้องการความช่วยเหลือเพื่อรับมือกับความท้าทายจากภาวะโลกร้อน ซึ่งแม้จะดูเหมือนมนุษย์ทำหน้าที่เป็นพระเจ้าในบางมุม แต่นี่ก็เป็นหนทางที่จะรักษาพันธุ์กบไว้ในอนาคตได้
โรว์ลีย์ มองว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่กบจะสามารถปรับตัวได้ทัน และการปล่อยสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ไว้ตามธรรมชาติอาจไม่ได้ผลอีกต่อไป เราจึงต้องทำบางอย่างให้สิ่งมีชีวิตสามารถย้ายถิ่นฐานไปได้ หรือในกรณีนี้ คือการสร้างข้อได้เปรียบทางพันธุกรรมเพื่อเปิดทางให้สัตว์บางชนิดมีความทนทานต่อโลกใหม่ที่ต้องอาศัยอยู่นั่นเอง
ทีมวิจัยจาก University of Western Australia ระบุว่า จะมีโครงการทดสอบเพิ่มเติมก่อนจะปล่อยสัตว์ที่ได้รับการปรับปรุงด้านพันธุกรรมนี้กลับสู่ธรรมชาติ และหวังหยิบยื่นความช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ นี้ เพื่อให้รับมือกับสภาพอากาศเลวร้ายที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่พวกเขาได้เตือนว่า ภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อกบทั่วโลก
พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย เผชิญกับปริมาณน้ำฝนที่ลดลงต่อเนื่องในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และเป็นแนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อไป และโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ ภายใต้ศูนย์ฟื้นฟูพันธุ์สัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ (Threatened Species Recovery Hub) ของรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อเฟ้นหาหนทางในการช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตต่างๆ ให้สามารถรับมือกับภาวะโลกร้อนที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต
(มีเนื้อหาบางส่วนจากสำนักข่าวเอพี)