วิวัฒนาการด้านการแพทย์ในการช่วยปกป้องคุ้มครองผู้คนจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ได้ผนวกเอาความก้าวล้ำนำหน้าทางเทคโนโลยีมาช่วยในการค้นคิดวิธีใหม่ๆ ที่เชื่อว่าจะได้ผลดีกว่า และมีข้อดีมากกว่าแนวทางที่ใช้อยู่ทั่วไป โดยเฉพาะ ในกรณีที่ต้องใช้กับคนหมู่มาก
นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันกล่าวว่าพวกเขาได้พัฒนาวัคซีนในรูปแบบ “แผ่นแปะ” ที่ป้องกันโรคติดเชื้อได้ดีกว่าการฉีดวัคซีนแบบดั้งเดิม
แผ่นแปะที่มีขนาดเล็กกว่าปลายนิ้วนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ แต่ละแผ่นจะมีเข็มขนาดเล็กจิ๋ว หรือ micro-needles จำนวนมากซึ่งสามารถแปะลงบนผิวหนังได้โดยตรง
นักวิจัยกล่าวในแถลงการณ์ว่า การทดลองแสดงให้เห็นว่าแผ่นแปะดังกล่าวสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันมากกว่าวัคซีนที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อแขนถึง 10 เท่า และให้ภูมิคุ้มกันมากกว่าวัคซีนที่ฉีดเข้าใต้ผิวหนังถึง 50 เท่า
ทั้งนี้นักวิจัยได้ทำการทดลองกับหนู และมีแผนที่จะขยายการทดลองไปสู่มนุษย์
ผลการทดลองดังกล่าวตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) ทีมวิจัยที่ทำการทดลองนี้นำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) และมหาวิทยาลัยแห่งนอร์ทแคโรไลนา (University of North Carolina - UNC) ที่เมือง Chapel Hill
นักวิจัยกล่าวว่าประสิทธิผลที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดจากการที่แผ่นแปะปล่อยให้วัคซีนซึมเข้าสู่ผิวหนังโดยตรง ซึ่งเต็มไปด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันที่เป็นเป้าหมายของวัคซีน และนอกจากวัคซีนแบบแผ่นแปะจะสามารถต่อสู้กับโรคได้ดีกว่าแล้ว ยังมีข้อดีอื่นๆ อีกหลายประการที่เหนือกว่าการฉีดวัคซีนแบบดั้งเดิม เช่น ไม่เจ็บ ไม่ต้องเก็บในห้องเย็น และผู้ใช้สามารถติดแผ่นแปะได้ด้วยตัวเอง เป็นต้น
การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่า วัคซีนมีความสำคัญในการควบคุมไวรัสในหมู่ประชากรจำนวนมาก แต่ก็มีอุปสรรคที่ทำให้ประชากรบางส่วนไม่ได้รับการฉีดยา เช่น ความจำเป็นในการเก็บวัคซีนในห้องเย็น และการที่ประชากรในหลายส่วนของโลกมีความยากลำบากในการเดินทางไปยังสถานที่ฉีดวัคซีน
นักวิจัยที่พัฒนาวัคซีนแบบแผ่นแปะกล่าวว่าพวกเขาหวังว่าวันหนึ่งวิธีการนี้จะสามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้และช่วยให้ประชากรทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนได้เพิ่มขึ้นอีกหลายล้านคน และการใช้วัคซีนแบบแผ่นแปะนี้ จะช่วยให้ใช้วัคซีนในปริมาณที่น้อยลงได้
เส้ามิ่น เทียน (Shaomin Tian) นักวิจัยในภาควิชาจุลชีววิทยาและวิทยาภูมิคุ้มกันที่วิทยาลัยแพทย์ (School of Medicine) ของ UNC ซึ่งเป็นผู้นำนำทีมทำการศึกษานี้กล่าวในแถลงการณ์ว่า นักวิจัยสามารถเอาชนะปัญหาด้านการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อความพยายามในการพัฒนาวัคซีนแบบแผ่นแปะซึ่งใช้ micro-needles ที่มีประสิทธิผลในอดีต และว่า ปัญหาหนึ่งของวิธีการในอดีตคือ ความคมของเข็มที่ลดลงจากการผลิตซ้ำโดยใช้แม่พิมพ์ แต่วิธีการใหม่นี้ใช้การพิมพ์แผ่นแปะด้วยเครื่องพิมพ์แบบสามมิติโดยตรง ซึ่งช่วยให้พัฒนาเข็มขนาดเล็กจิ๋วที่มีประสิทธิภาพได้
นักวิจัยกล่าวว่า พวกเขายังคงทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาวิธีรวมวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบัน เช่น วัคซีนจากไฟเซอร์และโมเดอร์นา เพื่อใช้ในแผ่นแปะ micro-needle ในการทดลองในอนาคต ซึ่งอาจสามารถใช้กับวัคซีนป้องกันโรคชนิดอื่นๆ ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีการวิจัยอื่นๆ เกี่ยวกับการใช้วัคซีนแบบแผ่นแปะอีกด้วย เมื่อปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งพิตต์สเบิร์ก (University of Pittsburgh) ประกาศว่า พวกเขาได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่สามารถส่งผ่านไปยังผิวหนังด้วยแผ่นแปะที่มีเข็มขนาดเล็ก 400 เข็ม
และที่ประเทศออสเตรเลีย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งควีนส์แลนด์ (University of Queensland) รายงานเมื่อเดือนมิถุนายนว่า พวกเขาได้พัฒนาวัคซีนแบบแผ่นแปะที่แสดงผลลัพธ์ที่ “ชัดเจนมาก” ในการทดสอบกับหนู โดยนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า แผ่นแปะเหล่านี้จะสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งและป้องกันโควิด-19 ได้มากกว่าการฉีดวัคซีนแบบดั้งเดิม