ทีมนักบินอวกาศจีนสามคนเดินทางถึงสถานีอวกาศแห่งใหม่ของจีนในวันเสาร์ ก่อนที่จะเริ่มภารกิจในวงโคจรรอบโลกเป็นเวลาหกเดือน ซึ่งถือเป็นโครงการส่งมนุษย์ขึ้นไปอาศัยอยู่ในอวกาศที่ยาวนานที่สุดของจีน
สำนักงานอวกาศจีน รายงานว่า จรวดเฉินโจว-13 ที่นักบินอวกาศทั้งสามคนโดยสารไปนั้น เดินทางออกจากศูนย์ปล่อยจรวดจิวกวน ในทะเลทรายโกบีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน หลังเที่ยงคืนวันศุกร์ และไปถึงสถานีอวกาศเทียนกงในอีกราว 7 ชม.ต่อมา
นักบินอวกาศสามคนดังกล่าวประกอบด้วย หัวหน้าทีม ไจ้ จีกัง (Zhai Zhigang) อดีตนักบินซึ่งเคยเดินอวกาศเป็นคนแรกของจีนเมื่อปี ค.ศ. 2008 หวัง หย่าปิง (Wang Yaping) สตรีคนแรกของจีนที่ได้ขึ้นไปประจำการบนสถานีอวกาศ และ หยี กวงฟู (Ye Guangfu) อดีตนักบินของกองทัพจีน
นักบินอวกาศสามคนจะใช้เวลาในช่วง 180 วันข้างหน้าเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ และทดสอบเทคโนโลยีสำหรับติดตั้งส่วนเพิ่มเติมของสถานีอวกาศเทียนกงในอนาคต ก่อนที่สถานีอวกาศนี้จะสามารถใช้งานจริงในปีหน้า และคาดว่าจะโคจรอยู่รอบโลกเป็นเวลา 10 ปี
นอกจากนี้ นักบินอวกาศจีนยังจะมีแผนการทดสอบ "เดินในอวกาศ" อีกหลายครั้ง
สถานีอวกาศ “เทียนกง” ของจีน ซึ่งแปลว่า "วังสวรรค์" จะกลายเป็นสถานีอวกาศลำที่สองที่อยู่ในวงโคจรรอบโลกในปัจจุบัน ต่อจากสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS ที่เป็นโครงการความร่วมมือของสหรัฐฯ รัสเซีย แคนาดา ยุโรป และญี่ปุ่น
จีนเริ่มโครงการสถานีอวกาศเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว หลังจากที่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมในโครงการสถานีอวกาศระหว่างประเทศเนื่องจากเสียงคัดค้านของสหรัฐฯ จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ.2003 จีนกลายเป็นประเทศที่สามต่อจากสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ที่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศได้สำเร็จ